เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ”จาก“ประทานบัตร”สู่“เหมืองแร่เพื่อชุมชน”
ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งมีกติกาการทำเหมืองที่กำหนดให้ต้องได้รับ “ประทานบัตร” คือ ใบประกอบกิจการหลักที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองหินและแร่ที่สำคัญของบริษัท และบริษัทย่อย
โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นผู้ที่รับผิดชอบหลักในการอนุญาตทำเหมือง นอกจากนี้ยังมี ค่าธรรมเนียมผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ คือ เงินตอบแทนการออกประทานบัตร เพื่อมอบให้แก่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการสำรวจหรือศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแร่ หรือเพื่อใช้ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยที่บริษัท และบริษัทย่อยจะชำระครั้งเดียวเมื่อได้รับประทานบัตร โดยเกณฑ์คำนวณมาจากมูลค่าแหล่งแร่ตามประทานบัตรคูณอัตราร้อยละที่ใช้ในการคำนวณผลประโยชน์แก่รัฐตามมูลค่าแร่
ตามแผนของกพร. กำหนดดำเนินการแนวคิด ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำเหมืองควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ ซึ่งแนวคิดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชน
เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อุตสาหกรรมที่กระทรวงต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบเชิงบวกเพิ่มมากขึ้นคืออุตสาหกรรมเหมืองแร่ เนื่องจากเป็นต้นน้ำและเป็นวัตถุดิบสำคัญต่อหลาย ๆ อุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กพร. สรรหาแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งในด้านการประกอบกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มาตรฐานการประกอบการที่มีธรรมาภิบาล การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนรอบเหมือง
"การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการดูแลชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับระบบนิเวศโดยรอบภายใต้แนวคิด ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้เกิดต้นแบบกิจการเหมืองแร่ที่ดี เพื่อส่งต่อไปยังกิจการอื่น ๆ ที่มีอยู่กว่า 800 แห่งทั่วประเทศ”
ด้านอดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า กพร. ได้จัดสรร “เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ” ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกพื้นที่การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งการจัดสรรในครั้งนี้ ถือเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ 187 ชุมชนทั่วประเทศ มูลค่ารวมกว่า 525 ล้านบาท โดยเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐเป็นเงินที่ได้จากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ได้รับสิทธิในการสำรวจแร่หรือการทำเหมือง ซึ่งเงินนี้จะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์สองด้าน คือการสำรวจและวิจัยเกี่ยวกับแร่ หรือ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ มีอิสระที่จะนำเงินส่วนนี้ไปใช้พัฒนาชุมชนโดยรอบเหมืองภายใต้วัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณถัดไป กพร. ยังมีแผนที่จะจัดสรรเงินกระจายสู่ชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถจัดสรรเงินนี้ได้ปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเร่งให้ชุมชนได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง
“สำหรับในปี 2568 การขับเคลื่อนแนวคิด ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ จะยังคงเป็นแนวทางที่สำคัญในการทำงานของ กพร. เพื่อให้ชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ที่มีจำนวนกว่า 480 เหมือง หรือ 850 แปลงประทานบัตร ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ และสร้างระบบนิเวศที่สมดุลมากขึ้น"
โดย กพร. มีแนวทางในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากกิจการเหมืองแร่ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งแร่ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมด้วยการผลักดันให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการด้วยความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ ‘เหมืองแร่สีเขียว’ เพื่อมอบรางวัลให้กับเหมืองแร่ดีเด่นที่สามารถรักษามาตรฐานการประกอบการเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าด้วย