พาณิชย์ เผยราคาสินค้าเกษตรราคาดี ส่วนผักสดมีขึ้น-ลง ตามสภาพอากาศ
กรมการค้าภายในเผยสถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญ ข้าว มัน ข้าวโพด ปาล์ม ราคาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนปศุสัตว์ หมูเนื้อแดง ไก่ ไข่ไก่ ทรงตัว ผักสด มีทั้งขึ้นและลง คาดมะนาวยังทรงตัว ด้านปุ๋ยเคมี ลงต่อเนื่อง ชี้ ราคาน้ำมันลง ส่งผลราคาสินค้ามีโอกาสปรับลดลงตามต้นทุน
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,600 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 13,750 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,150 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,200 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 12,400 บาท และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีก จากความต้องการข้าว ทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยปีนี้มีการตั้งเป้าส่งออกข้าวได้ถึง 8 ล้านตัน
ด้านราคามันสำปะหลัง ราคา 3.25-3.85 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ย่อตัวลงเล็กน้อย แต่ก็สูงถึง 12.15 บาทต่อกก. สูงกว่าปีก่อนที่ 12 บาทต่อกก. ปาล์มน้ำมัน ราคา 6.50 บาต่อกก. บางพื้นที่เช่นกระบี่ 7 บาทต่อกก. ส่วนสินค้าปศุสัตว์ หมูเนื้อแดง เฉลี่ย 153 บาทต่อกก. ราคาปรับขึ้นเล็กน้อย แต่ใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน ไก่ทั้งตัวรวมเครื่องใน ราคาทรงตัว 75-85 บาทต่อกก. และไข่ไก่ ราคาทรงตัวฟองละ 3.75 บาท
สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงถือเป็นข่าวดี โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนของราคาสิน จึงทำให้โอกาสที่สินค้าอุปโภคและบริโภคหลายรายการจะปรับลดลงมาได้ ซึ่งกรมฯอยู่ระหว่างเฝ้าติดตามหากสินค้ากลุ่มไหนต้นทุนการผลิตลดลงมามากสินค้าต่างๆก็จะลดลงตาม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับต้นทุนแต่ละกลุ่มสินค้าโดยรวมด้วยว่าลดลงมากน้อยแค่ไหน
ด้านนายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตผักสดเข้าสู่ตลาดลดลง จากสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ผลผลิตโตช้า โดยสถานการณ์ราคาปรับตัวลดลงจากเดือนมี.ค.2566 ที่ผ่านมา ผักที่ราคาลดลง เช่น คะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดขาว และผักบุ้งจีน แต่ต้นหอม ผักชี พริกขี้หนู ราคาเพิ่มขึ้น ส่วนมะนาว เบอร์ 1-2 ราคาเฉลี่ย 4.95 บาทต่อผล คาดว่าราคาจะทรงตัวไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย.2566 และจากนั้นเดือนพ.ค.2566 ราคาจะปรับลดลง เพราะผลผลิตจะออกมาก
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ปุ๋ยเคมีได้มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปุ๋ยลดลงทั้งระบบ 40 40 40 ซึ่งไม่ใช่สูตรใหม่ แต่เป็นตัวเลขการปรับลดลงในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย ลดลงแล้ว 40% จากช่วงที่เคยขึ้นไปสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว และต้นทุนนำเข้าปุ๋ย ก็ลดลงมาแล้ว 40% รวมถึงราคาขายปลีกในประเทศ ที่ปรับลดลง 40% ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร ที่จะลดต้นทุนปุ๋ยเคมีลงมาได้
“กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์ราคาปุ๋ย ทั้งราคาตลาดโลก ราคานำเข้า พบว่า ต้นทุนโดยรวมปรับลดลง ราคาจำหน่ายปุ๋ยในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ ต้องมีแต่ลงกับลง ซึ่งกรมฯ จะมีการติดตามและผลักดันให้โรงงาน ผู้จำหน่าย ปรับลดราคาลงให้สอดคล้องกับต้นทุนต่อไป”
ส่วนการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร กรมฯ ยังเดินหน้าโครงการ “จับคู่ปุ๋ย ซื้อตรง ถูกเงิน ถูกใจ” เพื่อให้มีการสั่งซื้อปุ๋ยกันโดยตรงจากโรงงานในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และโรงงานผู้ผลิต ผู้นำเข้าปุ๋ย 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพไทย ส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ วิสาหกิจขุมชน กลุ่มแปลงใหญ่ หรือกลุ่มอื่น ๆ รวมตัวกันสั่งซื้อปุ๋ยตรงจากโรงงาน ซึ่งเป็นช่องทางที่จะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรได้เข้าถึงปุ๋ยในราคาที่ประหยัดขึ้น
ร.ต.จักรา กล่าวว่า กรมฯ ยังได้สำรวจสถานการณ์การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกค้าส่ง พบว่า การจำหน่ายเป็นไปอย่างคึกคัก ห้างมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าบรรเทาความร้อน เช่น ปืนฉีดน้ำ สระน้ำ ห่วงยาง เครื่องปรับอากาศ พัดลม ครีมกันแดด ครีมอาบน้ำ และยังมีการลดราคาเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น กระทะไฟฟ้า หม้อต้ม เตาปิ้งยางด้วย เพื่อรองรับเทศกาลสงกรานต์ที่คนจะมีการกินเลี้ยงสังสรรค์กัน