กอนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จี้วางแผนป้องผลกระทบจากเอลนีโญ

กอนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ  จี้วางแผนป้องผลกระทบจากเอลนีโญ

กอนช. ถก 14 หน่วยงาน ติดตามสภาพอากาศและปริมาณน้ำต้นทุน ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ชี้ปัจจุบันยังไม่พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค พร้อมเร่งเตรียมการวางแผนบริหารจัดการน้ำต้นฤดูแล้งหน้า หลังไทยมีแนวโน้มเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ก.ค. นี้

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน

 

กอนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ  จี้วางแผนป้องผลกระทบจากเอลนีโญ กอนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ  จี้วางแผนป้องผลกระทบจากเอลนีโญ

 ว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีฝนตกทั่วประเทศน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 24% ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งมีฝนตกมากกว่าค่าปกติ โดยคาดว่าในช่วงเดือน พ.ค. - ก.ค. 66 จะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ก่อนปริมาณฝนจะกลับเข้าสู่ค่าปกติในเดือน ก.ย. 66

 ที่ประชุมจึง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดการณ์สถานการณ์ฝนในลักษณะรายภาค เพื่อใช้สำหรับประเมินปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง เพื่อนำมาพิจารณาวางแผนการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ไปจนถึงฤดูแล้งปีหน้า

สำหรับ สถานการณ์แหล่งน้ำทั่วประเทศในปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 50,022 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 61% ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การ 25,865 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 45% โดย กอนช. ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ณ วันที่ 1 พ.ค. 66 จะมีปริมาณน้ำ 41,660 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 59% ซึ่งมากกว่าเมื่อปี 65 อยู่ประมาณ 1,000 ล้าน ลบ.ม.

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงต้นฤดูฝนปีนี้ จะมีอ่างฯ ขนาดใหญ่เสี่ยงปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% จำนวน 11 แห่ง อาทิ เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่ง กอนช. จะติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

ในส่วนของสถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้ง ปัจจุบันยังไม่มีการเพาะปลูกเกินแผน และขณะนี้มีบางพื้นที่ดำเนินการเก็บเกี่ยวแล้ว โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือไปแต่ละจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการทำนาปรังรอบที่ 2 และจากการติดตามประเมินพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

 

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมชลประทาน ตรวจสอบสถานการณ์ในทุกพื้นที่ รวมถึงให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศดังกล่าว  ไปใช้ในการประเมินสถานการณ์น้ำในแต่ละจุด

 

 ขณะที่ กอนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด อาทิ ในเบื้องต้นได้ประสานไปยังการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเกาะสมุยและสาขาเกาะพะงัน ซึ่งได้รับรายงานว่า ยังคงมีการจ่ายน้ำในระดับปกติ สำหรับในพื้นที่พรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมักประสบปัญหาภัยแล้งและไฟป่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ สนับสนุนในพื้นที่เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นแล้ว

 

“ในช่วงที่ผ่านมา กอนช. ได้ดำเนินการตาม 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 อย่างเคร่งครัด โดยได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งด้านอุปโภค บริโภค ด้านคุณภาพน้ำ และการเกษตร เพื่อวิเคราะห์หามาตรการในการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจากการหารือร่วมกับคณะทำงานฯ พบว่าปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในช่วงต้นฤดูฝนเป็นไปได้ตามแผน

 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีแนวโน้มจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญในช่วงเดือน ก.ค. 66 โดยเอลนีโญจะเกิดขึ้นในห้วงระยะเวลา 2 ปี จึงต้องพิจารณาเตรียมการสำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปีหน้า รวมถึงประเมินสถานการณ์และ วางแผนการดำเนินการอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายภาคหน้าด้วย” นายชยันต์ กล่าว.