คน-เทคโนโลยี-นวัตกรรม | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
การพัฒนาเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืน มีความสำคัญต่อการยกระดับ “คุณภาพชีวิต” ของคนไทยทุกคน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เทคโนโลยีที่พัฒนาแบบพลิกโฉม กฎกติกาทางการค้า สงคราม โครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมาก
ที่สำคัญก็คือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถือเป็นปัจจัยที่เร่งให้แต่ละประเทศ จำเป็นต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง วิธีการและกลไกต่างๆ
ในการบริหารจัดการ เพื่อการรับมือและเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ศักยภาพทางอุตสาหกรรมของไทยเป็นอันดับ 35 จาก 64 ประเทศ (อันดับ 2 ของประเทศกลุ่มอาเซียน) โดยที่ไปได้ค่อนข้างดี ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตถ่านโค้กและผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม
อุตสาหกรรมยางและพลาสติก อุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจดูแลสุขภาพ กิจการเกี่ยวกับศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจการค้าปลีกและค้าส่ง อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม เรามีอุตสาหกรรมที่ต้องการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างเร่งด่วน เช่น การศึกษา เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การก่อสร้าง เป็นต้น
การรับรู้ขีดความสามารถที่แท้จริง (โดยวัดจากความเชี่ยวชาญในการผลิต ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของตลาด และมูลค่าเพิ่มที่สร้างขึ้น)
จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ได้ถูกทิศถูกทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
โดยหลักการแล้ว ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมมีด้วยกัน 7 ด้าน คือ
(1) Supply chain (2) Technology (3) Infrastructure (4) Ease of Doing Business (5) Market (6) Capital และ (7) Raw materials
แต่โดยทั่วไปแล้วอาจทำได้ด้วยการยกระดับศักยภาพใน 2 แนวทาง คือ
(1) การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ด้วยการพัฒนาผลิตภาพการผลิตและผลิตภาพแรงงาน การผ่อนคลายกฎระเบียบ การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การลงทุนเพิ่มเติมในโครงสร้างพื้นฐาน และ
(2) การจับคู่กับประเทศที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมมือกันในการเร่งพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย เช่น การเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ การหาตลาดใหม่ การวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
ทุกวันนี้ งานวิจัยของหลายหน่วยงานชี้ว่าเราควรจะต้องเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (ที่ไทยทำได้ดี) และมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต อันได้แก่
(1) อุตสาหกรรมยานยนต์ (Motor vehicles) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการผลิตวัตถุดิบในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องปรับตัวตามความต้องการที่เปลี่ยนไป แต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถของการแข่งขันในอนาคตด้วย
(2) อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ (Computer electronics and optical equipment) โดยการเปลี่ยนฐานะจาก “ผู้รับจ้างผลิต” (OEM) ไปสู่ “ผู้ออกแบบตรายี่ห้อ” (ODM)
(3) อุตสาหกรรมการขนส่งและจัดเก็บสินค้า (Transportation and storage) โดยการพัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่าเรือและรางรถไฟ เพราะมีความสะดวกและลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วย
ขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมก็จำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก (โดยเฉพาะในยุค VUCA World เช่นนี้) โดยให้ความสำคัญกับแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ตัวอย่างเช่น Digital Economy, Sustainable Economy, Health and Well Being Economy, Life Long Learning and Education เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม
นอกจากนี้ แรงกดดันอันเนื่องมาจากวิถีชีวิตใหม่ของ Next Normal รวมถึงแนวโน้ม (Trend) ในเรื่องกฎระเบียบใหม่ๆ ของโลกและมาตรฐานในด้านต่างๆ กำลังส่งผลให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัวแบบ “ยกเครื่อง”
โดยต้องให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่สอดคล้องกับกติกาสากล และต้องตอบโจทย์เกี่ยวกับ “ความยั่งยืน” และ “ภาวะโลกร้อน” อย่างจริงจังมากขึ้น
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ความสามารถทางการแข่งขันด้าน “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” ยังคงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
การปรับตัวของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัย “การพัฒนาบุคลากร” อย่างจริงจังและเป็นระบบต่อเนื่อง เพื่อการยกระดับการศึกษาที่เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น
โดยเฉพาะการสร้างความสามารถของบุคลากรในเรื่องของ Design Thinking ที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 และ Industry 4.0 อย่างเต็มภาคภูมิ ครับผม!