วิศวกร กับ ความยั่งยืน | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
"คาร์บอนเครดิต” และ ความยั่งยืน ประเด็นไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจมากสุดในงานสัมมนา “Climate Change : The Next Crisis” (พลิกวิกฤตมหันตภัยโลกร้อน) ที่มีผู้เข้าฟังแน่นขนัดกว่า 200 คน
งานสัมมนาจัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2566 โดยมีวิทยากรชั้นแนวหน้า (กูรู) ทางด้านนี้เป็นผู้นำเสวนาเกือบ 20 ท่าน
ผู้เข้าฟังกว่า 200 คนในงานนี้แน่นขนัดห้องประชุมตามคาดจริงๆ เพราะทุกวันนี้มีแต่ผู้คน (โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง) พูดกันแต่เรื่องของ “โลกร้อน” ที่ชาวโลกทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อความยั่งยืนของโลกใบนี้
ทุกหัวข้อของการเสวนาจึงเข้มข้นทั้งด้านความรู้ ประสบการณ์ และปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับ “คาร์บอนเครดิต” ซึ่งเป็นพระเอกของงานนี้ และตามมาด้วยมาตรการแก้ปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึง “นโยบาย BCG ของรัฐบาลไทย” ที่ประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้ในการประชุม APEC เมื่อปลายปีที่แล้ว
“BCG” คือ รูปแบบหรือโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่สอดคล้องกับ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อก้าวสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ซึ่งได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy)
เรื่องนโยบาย BCG นี้ ตัวที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด ก็คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)
“เศรษฐกิจหมุนเวียน” เป็นการปรับสมดุลระหว่างมนุษย์กับทรัพยากร (ทำให้ต้องใช้อย่างจำกัด ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย และต้องหาทางนำกลับมาใช้ใหม่) ลดการปลดปล่อยคาร์บอนเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรในอนาคตสำหรับสังคมคาร์บอนต่ำ
โดยมีการคาดการณ์ว่าอนาคตอีกไม่เกิน 50 ปี ทั่วโลกต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกมหาศาล
เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงเป็นทางออกที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติรูปแบบการใช้พลังงานและวัตถุดับอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับทรัพยากร นำไปสู่ความสำเร็จในการบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs : Sustainable Development Goals )
หลักการสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็คือ เศรษฐกิจที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากร และผลิตภัณฑ์ได้นานที่สุด ลดขยะหรือของเสียให้เหลือศูนย์ โดยยึดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ
(1) การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยควบคุมให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด และได้ประโยชน์สูงสุด ผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดการทรัพยากรในระบบและการฟื้นคืนสภาพทรัพยากรธรรมชาติ
(2) การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ โดยการออกแบบและแปรรูปทรัพยากร ภายหลังการใช้งาน การซ่อมแซม และนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเกิดการหมุนเวียนของวัตถุดิบภายในระบบเศรษฐกิจ และ
(3) การรักษาประสิทธิภาพของระบบและลดผลกระทบเชิงลบ โดยเน้นการจัดการและลดผลกระทบเชิงลบที่มาจากการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ที่ดิน อากาศ น้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น
จากหลักการสำคัญ 3 ประการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (คล้ายกับ “หลักการ 3R” : Reduce, Reuse, Recycle) เมื่อขยายผลสู่โมเดลด้านธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน จะมีปัจจัย 5 ประการ ที่ควรกระทำ (จากหนังสือ Circular Economy ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ) อันได้แก่
(1) ด้านการออกแบบ (Circular Design) เน้นด้านออกแบบให้มีอายุการใช้งานนานขึ้น รวมถึงสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) หรือใช้ซ้ำได้มากที่สุด
(2) ด้านการเลือกใช้วัสดุ (Circular Supplies) เป็นการนำวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ มาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ อีกทั้งยังเป็นการลดของเสียในการผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น บริษัท IKEA ของประเทศสวีเดน ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้เทียม เป็นต้น
(3) ด้านการบริการ (Product as a Service) เป็นการนำผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาให้บริการในรูปแบบของการเช่า หรือ จ่ายเมื่อใช้งาน (Pay-for-use) แทนการซื้อขาด เพื่อลดการซื้อที่ไม่จำเป็น เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น บริษัท ฟิลลิปส์ (Phillips) ได้พัฒนาโมเดลธุรกิจ “Phillips Circular Lighting” โดยให้บริการเช่าหลอดไฟ เป็นต้น
(4) ด้านการแบ่งปัน (Sharing Platform) เน้นการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการแบ่งปันพื้นที่หรือบริการสถานที่ทำงานร่วมกัน (Co-working Spaces) ด้วยการบริการให้เช่าพื้นที่และการเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์ในระยะเวลาสั้น
(5) ด้านการนำกลับมาใช้ใหม่ (Resource Recovery) เป็นการออกแบบให้มีระบบการนำวัตถุดิบเหลือใช้ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการกำจัด กลับเข้าสู่กระบวนการใหม่เพื่อลดปริมาณการเหลือทิ้งให้มากที่สุด
ปัจจัยที่ควรกระทำทั้ง 5 ประการเพื่อให้ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” สัมฤทธิ์ผลนั้น จึงอยู่ที่ “วิศวกร” เป็นสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับ “การออกแบบ” วัสดุ อุปกรณ์ กรรมวิธีการผลิต พลังงาน สินค้าหรือบริการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษาสมดุลของมนุษย์กับทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน ซี่งเป็นผลดีกับ “การลดภาวะโลกร้อน” ด้วย
ทุกวันนี้ “วิศวกร” ทุกคนจึงควรจะมีความรู้ความเข้าใจที่สามารถออกแบบ และร่วมกันสร้าง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development) ให้กับโลกใบนี้ได้ด้วย ครับผม !