โหนกระแสเศรษฐกิจ BCG | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
กระแส BCG Model กอบกู้เศรษฐกิจ ยังคงอยู่ในกระแสความตื่นตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมตลอดมา โดยเฉพาะการประกาศเรื่อง BCG หลังประชุมระดับชาติ APEC ที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้
งานประจำปีของ “องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (TBCSD) ที่จัดเมื่อ 1 ธ.ค.2565 โดยมีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) กล่าวปฐกถาเปิดงานเรื่อง “ทิศทางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน” ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของนโยบาย BCG ของภาครัฐ
คำว่า BCG จึงกลายเป็น “คำสำคัญ” ของการปรับโฉมหน้าเศรษฐกิจใหม่และการพัฒนาประเทศ ยิ่งรัฐบาลไทยได้ประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569 แล้ว กระแส BCG ยิ่งแรงขึ้น
BCG ย่อมาจาก “Bio-Circular-Green” Economy จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำมาสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับตัวต่อความท้าทายของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และอาหาร ที่เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกัน และเพื่อปรับให้ระบบเศรษฐกิจมีความสมดุลและความยั่งยืนมากขึ้น
“เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” เป็นการใช้ประโยชน์จากความเข้มแข็งของการมีทรัพยากรชีวภาพจากภาคการเกษตรและผลผลิต ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่แท้จริง โดยการผลิตแบบเดิมจะต้องมุ่งหน้าสู่โจทย์ใหม่ของการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ซึ่งทำได้ด้วยการใช้องค์ความรู้จากท้องถิ่นเอง
เสริมด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ของการผลิตนี้ พร้อมๆ กับการช่วยแก้ไขปัญหาของภาคการเกษตรที่มีแต่เดิมดังเช่นราคาพืชผล (ที่ไม่มีการเพิ่มมูลค่า) แต่มีราคาผันผวนอยู่เสมอและสร้างรายได้น้อยตลอดมา
“เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)” เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร มลพิษและของเสียที่เป็นผลจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง หรือการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งทำให้เกิดขยะมหาศาล
เศรษฐกิจหมุนเวียนจะให้ความสำคัญกับ “การจัดการขยะ” ภายหลังจากการบริโภคแล้ว และ “การลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์”
เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรมากที่สุดและคุ้มค่าที่สุด ตั้งแต่การผลิต การออกแบบที่ทำให้เกิดของเสียน้อยที่สุด การใช้วัสดุทางเลือก ตลอดจนการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ และแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (หลักการ 3R : Reduce, Reuse, Recycle)
“เศรษฐกิจสีเขียว (Green economy)” เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่าง “สมดุล” เพื่อให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพโดยลดหรือไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
พร้อมกับปกป้อง-อนุรักษ์-ฟื้นฟูแหล่งธรรมชาติ ต้นน้ำ ผืนดิน ความหลากหลายทางชีวภาพบนบกและท้องทะเล การควบคุมมลพิษและของเสีย การลงทุนสีเขียวและงานสีเขียว ตลอดจนการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยที่มี “คุณภาพและความเป็นอยู่ที่ดี” ของคนเป็นเป้าหมาย
ทุกวันนี้ เราต่างยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างที่เป็นอยู่นี้ อันนำมาซึ่งความมั่งคั่งของนานาประเทศจากการเอาทรัพยากรธรรมชาติไปใช้อย่างสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นผลทำให้ 1 ใน 3 ของผืนดินเสื่อมโทรมอย่างหนัก เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้อย่างมหาศาล
สัตว์กว่า 1 ล้านสายพันธุ์อยู่ในจุดเสี่ยงของการสูญพันธุ์ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งย้อนกลับมาทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในจุดเปราะบาง ความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ขยายถ่างกว้างขึ้น
พร้อมกับที่การมาถึงของโควิด-19 ได้ตอกย้ำภาพสะท้อนของผลลัพธ์จากระบบเศรษฐกิจดังกล่าวว่า การพัฒนาต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มีความสมดุลและคำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น
ปัจจุบัน “แนวความคิดเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” จึงอยู่ที่ปัจจัยหลักด้าน ESG (Environmental, Social, Governance) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
เนื่องด้วยการที่ธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่จะเอาชนะใจผู้บริโภคได้ ต้องไม่มุ่งแต่แสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก เพื่อนำพาธุรกิจอุตสาหกรรมไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบ และแสวงหาผลตอบแทนที่ไม่ใช่อยู่ในรูปของผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของกิจการด้วย
ต่อไปนี้ เราจะเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คือ เลือกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ทำธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างๆ (โดยเฉพาะ SMEs) เริ่มหันมาใช้แนวความคิดเรื่อง ESG และ BCG กันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ายุคใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรด้วย
ทุกวันนี้ เราจึงมีคำ (ย่อ) มากมายที่ผูกโยงกับเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันได้แก่ BCG, ESG, SDGs, DJSI และล่าสุดคือเรื่อง Climate Change Crisis (COP 27) ซึ่งผู้นำและผู้บริหารองค์กรต่างๆในวันนี้ ควรจะต้องรู้และทำให้ได้มากที่สุด ครับผม!