“ยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่” ยึด “BCG" ชูจุดแข็งแข่งดึง FDI
นโยบายส่งเสริมการลงทุนของหลายประเทศ และบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่การลงทุนสีเขียว หรือธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการแสวงหาผลกำไร ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
หรือ FDI ที่เป็นพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยที่สำคัญนั้นทำให้ไทยต้องปรับตัวเพื่อรับเงื่อนไขใหม่นี้
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานจัดงานสัมมนาออนไลน์ “Thailand-Japan Sustainable Business Seminar for Carbon Neutrality” จัดโดย องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ว่า ประเทศไทยกําลังดําเนินนโยบายส่งเสริม
- โมเดลเศรษฐกิจ BCG
- เศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy)
- เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
- เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
ซึ่งได้มีความร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อก่อให้เกิดห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งระหว่างญี่ปุ่นกับไทย และสนับสนุนนโยบายที่สําคัญของทั้งสองประเทศ เช่น BCG ของไทย และการส่งเสริมการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย
คุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ญี่ปุ่นมีการดำเนินแผนยุทธศาสตร์ “Green Growth Strategy” อย่างเข้มข้น ทั้งสองประเทศคือ ไทย และญี่ปุ่นกำลังพยายามผลักดันเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจัดการสภาพแวดล้อมพัฒนาควบคู่ไปด้วยกัน
“จําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และในระดับนานาชาติเพื่อสร้างความยั่งยืนร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป”
ซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า
โมเดล BCG นั้นแบ่งเป็น
1.เศรษฐกิจชีวภาพ เกี่ยวข้องกับการผลิตทรัพยากรชีวภาพหมุนเวียน และการแปลงทรัพยากรเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจชีวภาพ
2. เศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเป้าไปที่การนําทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิล 3.เศรษฐกิจสีเขียว มุ่งมั่นที่จะรักษาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้สมดุล นําไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการสนับสนุนนโยบายใหม่เพื่อความยั่งยืนทางด้านอุตสาหกรรมที่ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน
การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมคือ
1.เกษตรกรรม ได้แก่ ฟาร์มอัจฉริยะ/โรงงานพืช
2.อาหารที่มีมูลค่าสูง เช่น โปรตีนทางเลือก
3.การท่องเที่ยวที่มีความมั่งคั่งระยะยาว การแพทย์/ความร่ำรวย
4.รถยนต์ไฟฟ้า (EV)
5.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
6.ปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์ เช่น Bio-based
“เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการในอนาคต เช่น 1.พลังงานทดแทน ไฮโดรเจน 2.สิ่งทอ และแฟชั่น Functional Textile, ODM/OBM 3.สร้างอุตสาหกรรมใหม่ อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ และการแพทย์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน และอวกาศ อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และซอฟต์เพาเวอร์”
สำหรับกิจกรรมล่าสุด ได้มีการร่วมมือข้อตกลงของ เจโทร กรุงเทพฯ และ BOI ร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนโดยมีหัวข้อเกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable) และการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อเป็นกุญแจสู่ธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งโครงการยังได้มีการจัดงานเจรจาธุรกิจขึ้น มีบริษัทเข้าร่วมกว่า 60 บริษัท และมีหลายบริษัทที่เกิดความร่วมมือทางธุรกิจขึ้นจริงได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์