'TDRI’ ชี้ ‘ประชานิยม’ สร้างภาระการคลัง แนะรัฐบาลใหม่ขยับภาษีเพิ่มรายได้
“ทีดีอาร์ไอ" ติงพรรคการเมืองเกทับประชานิยมจนลืมฐานะการคลังประเทศ ชี้รัฐบาลใหม่ต้องกล้าขึ้นภาษีและควรทำทันทีในช่วง 2 ปีแรกหลังเลือกตั้งเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม “สภาพัฒน์-คลัง-สำนักงบฯ” เตรียมชงข้อมูลรัฐบาลใหม่ปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับภาระการคลังของประเทศ
Key Points
- พรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงด้วยการจ่ายเงินหรือการเพิ่มสวัสดิการให้ประชาชน
- หลายนโยบายที่จะใช้งบประมาณจำนวนมาก และจะเป็นภาระทางการคลังในอนาคต
- TDRI กังวลการแข่งขันนโยบายที่เกทับจนลืมฐานะทางการคลังของประเทศ
- มีข้อเสนอให้รัฐบาลกล้าพูดเรื่องขึ้นภาษี และควรทำในช่วง 2 ปี แรกที่คะแนนนิยมยังดี
การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 เป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันนโยบายกันอย่างเข้มข้น โดยนโยบายที่ออกมาหลายนโยบายยังคงเป็น “นโยบายประชานิยม” เช่น การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุและให้สวัสดิการผู้สูงอายุ การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการจ่ายเงินให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล
นอกจากนี้ยังมีนโยบายพักหนี้เกษตรกร และนโยบายพักหนี้ รวมถึงนโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตรที่แม้ยังไม่ระบุชัดว่าเป็นจะใช้นโยบายจำนำหรือประกันราคาสินค้าเกษตร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณดูแลภาคเกษตรกว่า 30 ล้านคน ซึ่งทำให้มีคำเตือนจากนักวิชาการและหน่วยงานเศรษฐกิจถึงภาระการคลังระยะยาว รวมทั้งมีข้อเสนอให้พรรคการเมืองวางแผนหารายได้และมีข้อเสนอจัดเก็บภาษีเพิ่ม
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายการเลือกตั้งปี 2566 แต่ละพรรคการเมืองเสนอนโยบายลักษณะเกทับกันมาก โดยเฉพาะนโยบายสวัสดิการ เช่น การเพิ่มสวัสดิการที่เป็นเงินให้ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท หรือเริ่มต้นเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้เงินจำนวนมากกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท
“การเกทับกันทางนโยบายนั้นเกิดขึ้นจริงในการเมืองก่อนการเลือกตั้งในปีนี้ บางพรรคเคยเสนอไว้เท่านี้ แต่พออีกพรรคหนึ่งให้มากกว่าก็บอกว่าจะให้มากกว่าอีกว่าให้มากกว่าซึ่งน่าเป็นห่วงเพราะไม่ควรออกนโยบายในลักษณะเกทับกันแบบนี้”
ทั้งนี้ ข้อเสนอนโยบายที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากเสมอไป แต่ควรเสนอว่านโยบายที่พรรคเสนอมาจะสนับสนุนให้ระบบหรือโครงสร้างใหญ่ หรืองบประมาณโดยรวมดีขึ้นอย่างไร ซึ่งคำว่าดีขึ้นหมายความว่าจากนโยบายเดิมคุณจะปรับปรุงอย่างไร หรือว่าอาจใช้งบประมาณเพิ่มอีกนิดหน่อย แล้วนโยบายที่มีอยู่จะครอบคลุมมากขึ้น ดูแลประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น
เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไม่ต้องถึงเดือนละ 3,000 บาทต่อคน ก็ได้ แต่อาจเพิ่มจากปัจจุบันนิดหน่อยแล้วดูแลคนแก่ที่ไม่มีรายได้ได้ โดยไม่เป็นภาระการคลังมาก
แนะขึ้นภาษีช่วง2ปีแรกของรัฐบาล
ส่วนประเด็นการหารายได้เพิ่มเพื่อมาผลักดันนโยบายจะต้องเสนอให้ประชาชนรับทราบด้วย เพราะแต่ละนโยบายใช้เงินค่อนข้างมาก ทั้งนโยบายที่จะลดค่าครองชีพและจัดสวัสดิการประชาชน ซึ่งแนวทางการหารายได้แต่ละพรรคการเมืองยังไม่ชัดเจน แต่หากเป็นรัฐบาลจะต้องอธิบายส่วนนี้ให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่าจะทำอย่างไร
“ที่มาของเงินจะให้พูดตอนหาเสียงคงลำบาก เพราะหากพูดเรื่องการหารายได้โดยการเก็บภาษีเพิ่มคงเสียคะแนนนิยม แต่เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลผสมหรือไม่ผสม ต้องกล้าพูดการปรับขึ้นภาษีด้วยเพื่อให้รัฐมีรายได้มากขึ้น”
นอกจากนี้ หากย้อยดูประวัติศาสตร์รัฐบาลหลายประเทศที่ได้รับการเลือกตั้งมาใหม่ หากจะขึ้นภาษีควรทำช่วง 1-2 ปีแรก ที่ได้รับเลือกตั้งเพราะคะแนนนิยมยังดี โดยบอกประชาชนตามตรงว่าจำเป็นต้องทำ และไม่อย่างนั้นที่หาเสียงไว้จะทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่มีเงินพอ และที่หาเสียงไปนั้นใช้งบประมาณเกินไปมากกว่าที่มีมาก หากประชาชนยินยอมก็ดำเนินนโยบายได้ เพราะมีรายได้เพิ่มจากภาษีเพิ่มเข้ามา
“เรื่องนโยบายกับเรื่องการคลังของประเทศต้องกลับไปดูว่าแบบไหนที่พอเหมาะพอดี ไม่มากเกินไปจนเป็นภาระการคลังระยะยาว และถ้าออกนโยบายมาแล้วซ้ำซ้อนก็ไม่ควรที่จะซ้ำซ้อน หรือถ้ามีช่องโหว่ต้องเสนอว่าจะทำอย่างไรให้อุดช่องโหว่ ซึ่งภาพรวมไม่มีพรรคไหนเสนอแบบนี้ให้ประชาชนเข้าใจ” นายสมชัย กล่าว
ชี้ไม่ควรให้สวัสดิการเท่ากันทุกกลุ่ม
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่เกี่ยวกับการให้สวัสดิการคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการใช้นโยบายสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง หรือสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีพรรคการเมืองเสนอมีประเด็นต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้
1.งบประมาณที่ใช้ในการทำนโยบายนั้นมากเกินไปหรือไม่ เพราะหากมากเกินไปจะเกิดผลเสียต่อการคลังระยะยาว เพราะขณะนี้ไทยมีภาระงบประมาณมากอยู่แล้วจึงมีข้อจำกัดในการทำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณมาก
2.นโยบายที่จะทำตอบโจทย์ความเร่งด่วนของปัญหาในปัจจุบันขนาดไหน เพราะความคาดหวังของรัฐบาลใหม่จะต้องแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนก่อน
3.นโยบายสวัสดิการที่จะทำมีความเหมาะสมทางวิชาการแค่ไหน โดยเป็นนโยบายที่ทำแล้วลงไปถึงกลุ่มคนที่ควรได้รับหรือไม่ และการได้รับเงินช่วยเหลือหรือสวัสดิการที่จัดสรรให้เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม รวมทั้งเมื่อจัดสวัสดิการแล้วจะเกิดความซ้ำซ้อนหรือไม่
นอกจากนี้ควรติดตามว่านโยบายสวัสดิการที่จัดทำแล้วมีส่วนที่ขาดประสิทธิภาพที่ต้องปรับปรุงแค่ไหน เช่น คนที่ควรได้แต่เข้าไม่ถึง ขณะที่คนที่เข้าถึงแต่ไม่ควรได้รับ ซึ่งนโยบายลักษณะนี้ต้องปรับปรุงเพราะไม่ตรงเป้าหมาย และตกหล่นจากการสำรวจที่ไม่ทั่วถึง
ทั้งนี้การจัดทำนโยบายที่เป็นสวัสดิการจะมีทั้งส่วนที่ให้ประชาชนได้ทุกคนทุกกลุ่ม เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ขณะที่บางนโยบายไม่ควรที่ทำลักษณะถ้วนหน้าเพราะจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
สศช.เตือนรอบครอบทำนโยบาย
ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าถึงนโยบายของหลายพรรคการเมืองที่เสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือน โดยระบุว่าหากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ค่าจ้างทั้งระบบปรับขึ้น ทั้งแรงงานที่มีทักษะและไม่มีทักษะ ดังนั้นภาระจะตกอยู่ที่ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมจะปรับไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแทน ซึ่งจะตามมาด้วยการปลดคนงาน ซึ่งควรเพิ่มทักษะแรงงานให้สูงขึ้นและเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนนี้ มั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมยอมรับได้
ขณะเดียวกันการปรับขึ้นเงินเดือนเด็กจบใหม่ (ปริญญาตรี) ซึ่งมีข้อเสนอให้เพิ่มเงินเดือนเริ่มต้นเป็น 25,000 บาท จะกระทบภาคเอกชนและภาครัฐ โดยที่ผ่านมาเพิ่มเงินเดือนเด็กจบใหม่ 15,000 บาท ภาครัฐต้องปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการเช่นกัน ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับฐานให้กับข้าราชการที่ทำงานมาก่อน เช่น ระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ ซึ่งกระทบต่อภาระงบประมาณ
“ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด แน่นอนว่ายังมีข้อจำกัดฐานะการเงินการคลัง และต้องดูวินัยการเงินการคลังระยะถัดไปด้วย สิ่งที่น่าจะทำ คือ การพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพและปรับเงินเดือนตามฝีมือแรงงาน”
ติงพักชำระหนี้ไม่ดีกับระบบเศรษฐกิจ
สำหรับการพักชำระหนี้หรือล้างหนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะสนับสนุนให้คนที่ชำระหนี้ดีมีแรงจูงใจไม่จ่ายหนี้ (Moral Hazard) รวมทั้งการพักหนี้ไม่ทำให้หนี้หายไปและสุดท้ายต้องมาใช้หนี้อยู่ดี
“การพักหนี้ พักดอกเบี้ย มีผลกระทบต่อเนื่อง ส่งผลต่อสถาบันการเงินที่เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจ สิ่งที่ควรทำ คือ ปรับโครงสร้างหนี้เป็นรายบุคคลมากกว่า ไม่ใช่การพักหนี้ทั้งระบบ” นายดนุชา กล่าว
หน่วยงานเศรษฐกิจห่วงฐานะคลัง
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูง 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอด้านเศรษฐกิจต่อรัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจต้องทำรายงานสถานะประเทศเสนอให้รัฐบาลใหม่
ทั้งนี้แม้ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินไม่กำหนดให้ต้องส่งรายงานสถานะประเทศให้รัฐบาลใหม่ แต่มีประเด็นสำคัญที่หน่วยงานเศรษฐกิจเห็นว่าต้องรายงานนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารเศรษฐกิจและการจัดทำนโยบาย
สำหรับประเด็นที่จะเสนอรัฐบาลใหม่รับทราบ ได้แก่ ฐานะการคลังของประเทศ รวมทั้งความจำเป็นในการเพิ่มรายได้ ซึ่งรวมถึงข้อเสนอปฏิรูปภาษีทั้งการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมบางรายการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
แหล่งข่าว ระบุว่า หน่วยงานเศรษฐกิจมีความกังวลเกี่ยวกับหลายนโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง ซึ่งมีแนวโน้มใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นมาก และอาจสร้างภาระทางการคลังให้ประเทศระยะยาว จึงต้องมีแผนจัดหารายได้เพิ่มขึ้นไม่เช่นนั้นการขาดดุลงบประมาณมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง และจะกระทบโครงการลงทุนใหม่ที่จะสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
“เรามีเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณ และค่อยๆเข้าสู่ภาวะสมดุลทางการคลังตามเป้าหมายการคลังระยะปานกลาง แต่พรรคการเมืองได้หาเสียงเพิ่มงบประมาณที่เป็นประชานิยมหรือสวัสดิการมากให้ประชาชน ซึ่งต้องเตรียมพร้อมแหล่งเงิน การจัดเก็บรายได้เพิ่ม และเรื่องภาษีต้องคุยกันจริงจังเพราะภาษีบางตัวมีแผนจัดเก็บมานานแต่เลื่อนออกไป ทำให้การเก็บรายได้ไม่ได้ตามเป้า และมีผลต่อการตั้งงบประมาณลงทุนมีสัดส่วนลดลงเพราะงบประมาณมีจำกัด” แหล่งข่าว ระบุ
นอกจากนี้ มีข้อเสนอแผนงานนโยบายและโครงการสำคัญที่ควรขับเคลื่อนต่อจากรัฐบาลก่อน โดยเป็นข้อเสนอแนะให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าต่อ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีประเด็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ในอีอีซี
รวมถึงโครงการถไฟทางคู่ที่อนุมัติแล้วและกำลังก่อสร้างหลายโครงการ โครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงการขนส่งและสนับสนุนการลงทุนของประเทศในอนาคต