"กรมชล"เข้มงดนาปรังรอบ2 แตะแผนแล้ว90%เสี่ยงขาดน้ำ

"กรมชล"เข้มงดนาปรังรอบ2    แตะแผนแล้ว90%เสี่ยงขาดน้ำ

กรมชลประทานเตือน งดทำนาปรังรอบ2 ต่อเนื่อง ระบุใช้พื้นที่แตะแผนแล้ว 90 % ทำความเสี่ยงภาวะฝนทิ้งช่วงทำเกิดโอกาสขาดแคลนน้ำหลังอุตุฯคาดปริมาณน้ำฝนปีนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ขณะสทนช. วาง12 มาตรการรับมือฝน

“น้ำ”ปัจจัยการเกษตรที่สำคัญ หากปริมาณน้ำไม่พอตลอดช่วงเวลาของการเพาะปลูกผลที่ได้จะไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนทำการเกษตรนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาปรัง

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนทิ้งช่วง ด้วยปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลให้ปริมาณฝนในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 

ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด โดยกรมชลประทานประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร งดทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ที่สำคัญเพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุดด้วย

 

\"กรมชล\"เข้มงดนาปรังรอบ2    แตะแผนแล้ว90%เสี่ยงขาดน้ำ

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 รอบ ได้แก่ การปลูกข้าวนาปี (1 พ.ค.- 31 ต.ค. ) และ การปลูกข้าวนาปรัง (1 พ.ย. – 30 เม.ย. ) และหากมีการปลูกข้าวอีกจะเป็นนาปรังรอบที่ 2 (1 มี.ค. – 30 เม.ย. ) ซึ่งจะเป็นการปลูกข้าวเป็นรอบที่ 3 ของปีซึ่งจากสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ขณะนี้พบว่า การเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 มีจำนวน 12.23 ล้านไร่ หรือ 90 % ของแผนการปลูกข้าว โดยแบ่งเป็นในเขตชลประทาน 9.61 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.62 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.97 ล้านไร่ และเกษตรกรจะทยอยเก็บเกี่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

นาปรังรอบ3ทำน้ำต้นทุนเจ้าพระยาลด

"หากเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรังอีกรอบต่อเนื่องทันทีจะเกินแผนและส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของข้าวที่อยู่ระหว่างการเพาะปลูกและกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มเจ้าพระยา"

ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอความร่วมมือเกษตรกร 13 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี นครสวรรค์ พิจิตร ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี งดทำนาปรังรอบ 2 ต่อเนื่อง เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน ลดความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากไม่มีน้ำต้นทุนเพียงพอ

อีกทั้ง การพักนาไว้ก่อน จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะขาดทุนเนื่องจากต้นข้าวยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของประเทศ เป็นการพักดินเพื่อลดปัญหาการสะสมของโรคและแมลงศัตรูข้าว โดยเกษตรกรสามารถปลูกพืชปุ๋ยสดแทนเพื่อปรับปรุงดินให้ดีขึ้น เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม โสนอัฟริกัน ถั่วเขียว หรือพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตด้านการใช้ปุ๋ยในฤดูกาลผลิตถัดไปได้

อย่างไรก็ตาม ในฤดูฝนของทุกปียังมีความเสี่ยงรอบด้าน ดังนั้นทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จึง กำหนด 12 มาตรการรับมือ ฤดูฝน ปี 2566 ประกอบด้วย  1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วงฝนทิ้งช่วง โดย ประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในช่วงเดือนมี.ค.- ธ.ค. 2566 และปรับปรุงข้อมูลทุกเดือนเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เตรียมการบริหารจัดการน้ำ ในช่วงฤดูฝนประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากช่วงฝนทิ้งช่วง ในช่วงเดือนมิ.ย.- ก.ค. 2566 เพื่อให้หน่วยงานนำไปกำหนดแผนปฏิบัติ เตรียมดำเนินในเชิงป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง

เตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำหลาก

2. การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก เตรียมความพร้อมการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำฯ แก้มลิง เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วง ฤดูน้ำหลาก และการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนการระบายน้ำ แผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน เช่น พื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำภายในเขตพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ลุ่มต่ำอื่น ๆ กำหนดหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชย ความเสียหายในพื้นที่เอกชน

     3. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ เขื่อนระบายน้ำและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ เช่น เกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการน้ำทบทวน ปรับปรุงหลักเกณฑ์และมาตรฐาน การบริหารจัดการน้ำ สำหรับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น

 เกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) เกณฑ์การระบายน้ำเขื่อน อาคารระบายน้ำ การคาดการณ์ฝนและปริมาณน้ำท่าในลำน้ำ ประเมินน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ เกณฑ์ค่าเฝ้าระวังระดับเตือนภัย เกณฑ์การบริหารจัดการ เป็นต้น

4. เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อม ใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 5. เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือบุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง 6. ตรวจความมั่นคงปลอดภัย คัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ

7. เพิ่มประสิทธิภาพ การระบายน้ำของทางน้ำ 8. ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ 9. เร่งเก็บกักน้ำ ในแหล่งน้ำทุกประเภท 10. สร้างความเข้มแข็ง เครือข่ายภาคประชาชน ในการให้ข้อมูลสถานการณ์ 11. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 12. ติดตามประเมินผลปรับมาตรการ ให้สอดคล้อง กับสถานการณ์ภัย ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้กรณีฝนตกหนัก อย่างทันต่อสถานการณ์