ธ.ก.ส. ลุยปั้นแอปฯ ดันราคาสินค้าเกษตร

ธ.ก.ส. ลุยปั้นแอปฯ ดันราคาสินค้าเกษตร

ธ.ก.ส.นำเทคโนโลยีผนวกข้อมูลเกษตรกร สร้างฐานการผลิตสินค้าเกษตร ใช้บริหารจัดการด้านการผลิต การตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด ป้องกันราคาตกต่ำ ช่วยให้เกษตรกรกำหนดแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. มีข้อมูลเกษตรกรรวมไปถึงกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ทั่วประเทศกว่า 5 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นฐานข้อมูล (Database) สำคัญของภาคการเกษตร และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการข้อมูล สามารถเชื่อมโยงไปสู่การบริหารจัดการ การวางแผนทั้งด้านการผลิต การตลาด รวมถึงการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งการรวบรวม การทำ packaging การแปรรูป การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูง 

ซึ่งประโยชน์จากฐานข้อมูล จะทำให้เกษตรกร สามารถบริหารจัดการการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคต่าง ๆ ในตลาด ลดปัญหาการเกิดภาวะสินค้าเกษตรล้นตลาด ช่วยให้เกษตรกรสามารถกำหนดปริมาณและราคาสินค้าได้อย่างเหมาะสม และป้องกันราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ฉัตรชัย ศิริไล ระบุ ธนาคารมีนโยบายที่จะเพิ่มบทบาทของธนาคารให้เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือในการทำการตลาดให้กับเกษตรกรมากขึ้น โดยเร็วๆ นี้ จะจัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงการนำสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพดีมาจำหน่ายตรงให้ถึงมือผู้บริโภค เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และประชาชนมีโอกาสบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ พร้อมที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ควบคู่กับการส่งเสริมวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ

ด้านเจ้าของสวนดอกดาวเรือง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ปรีชา เล็นวารีย์ บอกว่า ช่วงที่มีการหาเสียงและเทศกาลเชงเม้ง ความต้องการดอกดาวเรืองในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคาขายพุ่งสูงขึ้นเป็นดอกละ 1.30 - 2 บาท จากปกติดอกละ 30-50 สตางค์ โดยมียอดขายดอกดาวเรืองสูงถึงวันละ 3,000 - 5,000 ดอก และคาดว่าราคาดอกดาวเรืองจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงเทศกาลสงกรานต์ที่ต้องการนำดอกไม้ไปใช้ในประเพณีและกิจกรรมต่างๆ แต่ก็ประสบปัญหาตัดดอกไปขายไม่ทัน เนื่องจากขาดแรงงาน

สำหรับสวนมะพร้าวน้ำหอม ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ของนายณรงค์ พูลขวัญ ซึ่งเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมบริโภคของนักท่องเที่ยว โดยในช่วงที่ปุ๋ยเคมีราคาค่อนข้างสูง ได้พัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนมาใช้ภายในสวน และจำหน่าย ซึ่งนอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้เสริม สอดคล้องตามหลัก BCG Model ที่ ธ.ก.ส. มุ่งสนับสนุนอีกด้วย 

ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน