‘ว่าวไทย’ สร้างรายได้เสริมหลักหมื่นต่อเดือน!
ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวว่ามีหนุ่มชาวอำเภอหนองไผ่อาชีพช่างภาพอิสระใช้เวลาว่างทำว่าวไทยจากการชื่นชอบต่อมามีผู้ติดต่อซื้อจึงทำขายมีรายได้นับหมื่นบาทต่อเดือน จนปัจจุบันทำไม่ทันต้องสั่งจองล่วงหน้าและต้องให้ลูกค้ามารับเอง จึงเดินทางไปตรวจสอบ
พบนายธวัชชัย เชี่ยวชาญ หรือบอย อาชีพช่างภาพอิสระ เปิดเผยว่าตนเป็นช่างภาพอิสระและในทุก ๆ วันก็จะไปช่วยญาติเปิดร้านถ่ายรูปอยู่ภายในตลาดอำเภอหนองไผ่ ก่อนหน้านั้นหลังเลิกงานตนก็จะดื่มและเที่ยวเช่นเดียวกับวัยรุ่นทั่ว ๆ ไป แต่มีอยู่วันหนึ่งนึกอยากจะเล่นว่าวที่เคยเล่นในวัยเด็ก จึงได้ลงมือทำและนำไปวิ่งเล่นที่โรงเรียนใกล้บ้าน ทำให้รู้สึกว่ามีความสุขและมีสมาธิเมื่อได้ทำและนำว่าวไปเล่น จึงได้ทำขึ้นอีกหลายตัว จากนั้นก็นำไปโพสต์ในเฟสบุคด้วยความภาคภูมิใน ปรากฏว่ามีคนติดต่อเข้ามาขอซื้อจำนวนมาก ทำให้เห็นช่องทางที่จะทำรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว จึงได้ใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน รวมทั้งวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ ทำว่าวขายโดยจะขายอยู่ที่ตัวละ 800 – 1,000 บาท แล้วแต่ลวดลายและความยากง่ายของตัวว่าว ขนาดความสูงมาตรฐานจะอยู่ที่ 160 ซม. โดยว่าวแต่ละตัวก็จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันจึงจะเสร็จ โดยเฉลี่ยในแต่ละเดือนก็จะขายได้ประมาณเดือนละ 8 – 10 ตัว
นายธวัชชัย เชี่ยวชาญ หรือบอย เปิดเผยต่อว่าสำหรับว่าวที่ตนทำขายนั้นส่วนมากจะเป็นว่าวไทยเช่นจุฬา สองห้อง เป็นต้น ซึ่งก็จะทำตามสั่งของลูกค้า โดยเฉพาะลวดลายต่าง ๆ ลูกค้าจะเป็นคนกำหนดมาเอง แต่ลายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือลายธงชาติ ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้โครงก็จะทำจากไม้ไผ่ และไม้ลาน ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันมาก โดยไม่ลานจะแพงกว่าไม้ไผ่เกือบเท่าตัว เนื่องจากต้องสั่งจากต่างจังหวัดและมีราคาค่อนข้างแพง แต่ไม้ไผ่สามารถหาได้ในพื้นที่ ส่วนตัวว่าวก็จะทำจากผ้าร่มซึ่งจะมีความคงทนสามารถอยู่ถึง 4 – 5ปี ลูกค้าที่ซื้อไปก็จะนำไปวิ่งเล่นบ้าง บางรายก็ซื้อไปประดับบ้าน ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละตัวก่อนที่จะส่งมอบให้ลูกค้าจะต้องทำการทดสอบก่อนทุกตัวว่าสามารถเล่นได้และกินลมจริง ๆ
นายธวัชชัย เชี่ยวชาญ หรือบอย เปิดเผยอีกว่าเมื่อก่อนตนก็เคยส่งว่าวที่ทำเสร็จแล้วไปให้ลูกค้าทางไปรษณีย์แต่เนื่องจากมักจะเกิดการเสียหาย อีกทั้งค่าขนส่งก็ค่อนข้างสูง ดังนั้นหากลูกค้าจะสั่งซื้อจะต้องมารับด้วยตนเองเท่านั้นไม่จัดส่งแต่อย่างใด ซึ่งลูกค้าส่วนมากก็จะมาจากภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ก็จะมีกลุ่มลุกค้ามาสั่งเป็นประจำ
แต่สิ่งหนึ่งที่ตนอยากจะเห็นก็คืออยากให้ผู้ใหญ่ของพื้นที่ส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้จัดการเล่นว่าวไทย ไม่ใช่ว่าตนอยากจะขาย แต่ตนอยากจะสอนให้เด็ก ๆ เยาวชนทำว่าวไทยได้ เพื่อจะได้เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมสิ่งดีงามให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป