บีโอไอบุกจีน ดึงลงทุนอีวี อิเล็กทรอนิกส์ เผย Q1 จีนลงทุนกว่า 2.5 หมื่นล้าน
บีโอไอ ผนึกกำลัง กนอ. บุกโรดโชว์ดึงการลงทุนจีน พร้อมรุกเจาะบริษัทเป้าหมาย ต่างยืนยันเดินหน้าลงทุนในอุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์ เผยจีนยื่นขอส่งเสริมลงทุนไตรมาสแรกปี 2566 กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการเดินทางโรดโชว์ส่งเสริมการลงทุน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เมืองธุรกิจสำคัญ ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ หางโจว เซินเจิ้น และกว่างโจว ระหว่างวันที่ 3 – 7 เม.ย. 2566 ว่า บีโอไอพร้อมด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เดินทางไปจัดสัมมนาใหญ่ที่นครเซี่ยงไฮ้พร้อมพบกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีน รวมกว่า 10 บริษัท นับเป็นโรดโชว์ประเทศจีนครั้งแรกในรอบ 3 ปี ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด - 19
ทั้งนี้ จีนถือเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของไทย และมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยว หลังจากที่จีนเปิดประเทศ บีโอไอจึงได้เร่งจัดคณะมาเยือนจีน ซึ่งได้ผลสำเร็จอย่างมาก นักลงทุนจีนให้ความเชื่อมั่น และยืนยันเลือกไทยเป็นฐานธุรกิจสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทย"
"ในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราต้องรุกดึงการลงทุนจากจีน เพราะสถานการณ์โลกมีความไม่แน่นอนสูงทำให้บริษัทต่าง ๆ มีความจำเป็นต้องขยายการลงทุนเพิ่มเติมจากฐานในประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ”
ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คณะไทยได้พบกับผู้ผลิตรายใหญ่ของจีน 5 ราย ได้แก่ Changan Automobile, Geely, BYD, JAC และ Jiangling Motors (JMC) ซึ่งทั้ง JAC และ JMC เป็นผู้ผลิตรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าชั้นนำ โดยทุกรายแสดงความสนใจลงทุนผลิต EV ในประเทศไทย และสนับสนุนไทยให้เป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเนื่องจากมองว่าไทยมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริม EV แบบครบวงจร มีซัพพลายเชนของชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการผลิต EV อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพ และตลาดในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวสูง นอกจากนี้ ทุกรายยังให้ความสนใจการขยายมาตรการสนับสนุน EV หรือ EV 3.5 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) แล้ว
เบื้องต้นคาดว่าจะมีการลงทุนจากกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ใน 1 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ไม่รวม BYD ซึ่งได้ขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และชิ้นส่วนในไทยแล้ว 6 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท
“ผู้ผลิต EV ของจีน ยืนยันมองไทยเป็นเป้าหมายลำดับแรกในภูมิภาค เพราะมีความพร้อมในทุก ๆ ด้านสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรม EV ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลก อีกทั้งเห็นตัวอย่างการเติบโตของบริษัทจีนรายอื่น ๆ ที่เข้าสู่ตลาดในไทยก่อนหน้านี้ เช่น MG, Great Wall Motor, BYD และ NETA ทำให้เกิดความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น” นายนฤตม์ กล่าว
กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของจีนเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะไปขยายฐานผลิตที่ไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในยานยนต์และอุปกรณ์สื่อสาร คณะได้พบกับผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) รายใหญ่ ได้แก่ WUS Printed Circuit (Kunshan) และ ASKPCB ซึ่งทั้งสองบริษัทมีแผนลงทุนในไทยรวมกันกว่า 12,000 ล้านบาท
โดยได้หารือเรื่องการนำ supplier ของบริษัท ย้ายตามไปลงทุนในไทยอีกกว่า 200 บริษัท เพื่อบริหารต้นทุนการผลิตและการจัดส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพ โดยครั้งนี้ ได้พบกับ Supplier รายสำคัญกว่า 10 บริษัท เช่น Yiyang Jindong Technology, Haoyue New Materials Technology และ Guangdong Dtech รวมทั้งผู้บริหารสมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของจีนด้วย
“กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของจีน มีความจำเป็นต้องหาแหล่งผลิตที่ 2 นอกประเทศจีน หรือ China + 1 เพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารต้นทุนการผลิต ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การมาลงทุนของกลุ่มนี้ จะต้องอาศัย supplier จำนวนมากในการสนับสนุนการผลิต ดังนั้น บีโอไอจะส่งเสริมให้ supplier บางส่วนเข้ามาลงทุนในไทย ควบคู่ไปกับการผลักดันบริษัทไทยที่มีศักยภาพ เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนนี้ ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ซึ่งทางฝ่ายจีนก็ยินดีสนับสนุนด้วย”
นอกจากนี้ บีโอไอยังร่วมกับคณะกรรมการพาณิชย์นครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Municipal Commission of Commerce) จัดงานสัมมนาใหญ่ "Thailand's New Investment Promotion Measures: NEW Economy, NEW Opportunities" เพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ และศักยภาพของประเทศไทย ทั้งด้านการเป็นฐานการผลิตและสำนักงานภูมิภาค รวมทั้งวีซ่าระยะยาว (Long-term Resident หรือ LTR Visa) เพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพสูง
อีกทั้ง นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. ได้ร่วมบรรยายถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมในการรองรับการลงทุน ซึ่งงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักธุรกิจจีนอย่างมาก โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน จากหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล เครื่องจักรและอุปกรณ์ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น
หลังจากกิจกรรมครั้งนี้ จะมีคณะนักธุรกิจจีนเดินทางมาเยือนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 19 - 22 เมษายน 2566 สมาคมผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ของจีน (China Printed Circuit Association) จะนำคณะผู้ผลิต PCB และชิ้นส่วนกว่า 60 รายมาศึกษาโอกาสการลงทุนในไทย ต่อจากนั้น ในช่วงต้นเดือนพ.ค. 2566 นายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ จะนำคณะผู้บริหารและนักธุรกิจจีนกว่า 50 คน เดินทางมาจัดสัมมนาสร้างความร่วมมือไทย - จีน และประชาสัมพันธ์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซี ตามด้วยงานประชุมนักธุรกิจจีนจากทั่วโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 24 - 26 มิ.ย. 2566 ซึ่งจะมีนักธุรกิจจีนมาร่วมงานราว 4,000 คน
ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน158 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ และดิจิทัล โดยไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค. - มี.ค. 2566) มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน38 โครงการ มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท