'คมนาคม' เว้นค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ - ทางด่วนรวม 7 สาย รับเดินทางสงกรานต์นี้

'คมนาคม' เว้นค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ - ทางด่วนรวม 7 สาย รับเดินทางสงกรานต์นี้

ครม.ไฟเขียวยกเว้นค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สาย 7 และ 9 ช่วงสงกรานต์ฟรี 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 - 18 เม.ย. 66 ขณะที่ กทพ.ยกเว้นค่าผ่านทางรวม 5 สาย หวังลดภาระค่าใช้จ่ายและการจราจรติดขัด

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง จำนวน 2 สายทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวม 7 วัน ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันพุธที่ 12 เมษายน 2566 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันอังคารที่ 18 เมษายน 2566 ดังนี้

1. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงกรุงเทพฯ - ชลบุรี - พัทยา - มาบตาพุด

2. ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ช่วงบางปะอิน - บางพลี และช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี พ.ศ. 2566 มีวันหยุดต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2566 โดยคาดหมายได้ว่าจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้การจราจรติดขัดในทุกสายทางที่ออกและเข้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษดังกล่าวในวันหยุดต่อเนื่อง เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว และลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

อีกทั้งนอกเหนือจากผลประโยชน์ทางตรงที่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้จากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้ทางหลวงพิเศษและจากการประหยัดเวลาในการเดินทางแล้ว การยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อม กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากการที่ประชาชนสามารถนำเงินที่ประหยัดได้จากการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษนำไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 227 ล้านบาท

ด้านการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 จำนวน 5 สายทาง ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ของประชาชน และเป็นไปตามข้อจกลงในสัญญาสัมปทานฉบับแก้ไขใหม่ระหว่าง กทพ. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ดังนี้

วันพุธที่ 12 เมษายน 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันอังคารที่ 18 เมษายน 2566 เวลา 24.00 น.  รวม 7 วัน ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของ

- ทางพิเศษบูรพาวิถี (ทางพิเศษสายบางนา-ชลบุรี)

- ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี–สุขสวัสดิ์)

วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน 2566 เวลา 00.01 น. ถึงวันเสาร์ที่ 15 เมษายน 2566 เวลา 24.00 น. รวม 3 วัน ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษของ

- ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) จำนวน 19 ด่าน

- ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) จำนวน 31 ด่าน

- ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) จำนวน 10 ด่าน

นอกจากนี้ กทพ. ยังได้จัดตั้งหน่วยบริการประชาชน โดยปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางด่วน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด และหน่วยงานเอกชนที่ให้การสนับสนุน เพื่อบริการประชาชนที่ใช้ทางพิเศษ  ในการเดินทางเข้า - ออก กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 จุด ดังนี้ ด่านฯ ขาออกเมือง (วันที่ 11 - 14 เมษายน 2566) ที่ด่านฯ บางแก้ว 1 ด่านฯ ฉิมพลี  ด่านฯ บางปะอิน (ขาออก)  เวลา 07.00 – 21.00 น. และด่านฯ ขาเข้าเมือง (วันที่ 15 - 17 เมษายน 2566) ที่ด่านฯ บางนา ด่านฯ จตุโชติ และด่านฯ บางปะอิน (ขาเข้า) เวลา 07.00 – 21.00 น.