เปิดรูททางด่วนผ่า 'แยกเกษตร' กทพ.ลุยศึกษาอุโมงค์ทาง (รอด)
การทางพิเศษฯ เปิดทางรอดโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ เดินหน้ารับฟังความเห็นคัดเลือก 1 ใน 3 เส้นทาง ลุยเจาะอุโมงค์ใต้ดินหวังลดปัญหามลพิษทางเสียง ปิดตำนานตอม่อทิ้งร้างเกษตร – นวมินทร์
เสาตอม่อ 281 ต้น ตลอดถนนเกษตรฯ - นวมินทร์ ถึงเวลาปิดตำนานทิ้งร้างมากกว่า 20 ปีแล้ว เนื่องจากขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เริ่มต้นศึกษาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ทั้งส่วนทดแทน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช – ถนนงามวงศ์วาน – ถนนประเสริฐมนูกิจ และส่วนต่อขยายตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ
สำหรับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือนี้ ยังนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่หลายรัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ข้อสรุปในรูปแบบการพัฒนา และแนวเส้นทางที่เหมาะสม เพราะยังมีเสียงคัดค้านจากประชาชน และหน่วยงานที่แนวเส้นทางต้องถูกตัดผ่านมาโดยตลอด เช่น ช่วง N1 ซึ่งมีการศึกษาแนวเส้นทางตัดผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ส่งผลให้ทางมหาวิทยาลัยฯ ยื่นหนังสือคัดค้านเพราะกังวลถึงผลกระทบมลภาวะทางเสียง ฝุ่นและแรงสั่นสะเทือน
โดยล่าสุดคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้ กทพ. ดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก และส่วนทดแทนตอน N1 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออก และตะวันตกของ กรุงเทพมหานคร
ส่งผลให้ กทพ.เดินหน้างานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 โดยเบื้องต้นจะทำการศึกษาเปรียบเทียบความเหมาะสมใน 3 แนวทางเลือก เพื่อให้ประชาชนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และเลือก 1 แนวทางในการพัฒนาโครงการนี้ โดย กทพ.คาดว่าจะได้ข้อสรุปแนวเส้นทางที่เหมาะสมภายในปีนี้
อย่างไรก็ดี จากการนำเสนอข้อมูลของ กทพ.เบื้องต้น พบว่า 3 แนวทางเลือกนั้น จะมีการพัฒนาเป็นอุโมงค์ใต้ดินทุกเส้นทาง ซึ่ง กทพ.ยอมรับว่าการปรับแบบก่อสร้าง โดยใช้รูปแบบอุโมงค์ใต้ดิน จะทำให้วงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 3 เท่า จากเดิมใช้วงเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่จะช่วยแก้ปัญหาผลกระทบที่หลายฝ่ายกังวล ทั้งมลภาวะทางเสียงและแรงสั่นสะเทือน จึงมั่นใจว่ารูปแบบอุโมงค์จะเป็นทางออกที่เหมาะสมของการพัฒนาทางด่วนสายนี้
สำหรับ 3 แนวทางเลือกในการศึกษา ประกอบด้วย
1.ทางพิเศษประจิมรัถยา – ถนนพหลโยธิน - แนวคลองบางบัว มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช เลี้ยวซ้ายไปตามถนนกำแพงเพชร 2 ถึงบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 11 แล้วเลี้ยวขวา และลดระดับลงใต้ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 ลอดใต้ ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อเนื่องไปตามแนวคลองระบายน้ำด้านข้างซอยเผือกวิจิตร จนถึงถนนรัชดาภิเษกบริเวณใกล้ ซอยรัชดาภิเษก 46 เลี้ยวขวาไปตามแนวถนนรัชดาภิเษกถึงแยกรัชดาลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนพหลโยธินฝั่งขาออก เมื่อถึงแยกเกษตรจึงเลี้ยวขวาไปเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
2.ทางพิเศษศรีรัช – ถนนงามวงศ์วาน - แนวคลองบางบัว โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับแนวถนนงามวงศ์วาน มาตามแนวเกาะกลางถนนงามวงศ์วาน ผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor แนวทางนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้
2.1 จะเริ่มต้นในลักษณะเส้นทางยกระดับจนถึงคลองลาดยาว แล้วลดระดับลงใต้ดิน บริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ลอดใต้คลองเปรมประชากร ถนนวิภาวดีรังสิต แยกเกษตร
2.2 จะมีลักษณะเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด ไปจนถึงจุดเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
3.ทางพิเศษประจิมรัถยา – ต่างระดับรัชวิภาฯ - แนวคลองบางบัว มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช ไปตามแนวถนนกำแพงเพชร 2 ถึงทางต่างระดับรัชวิภา เลี้ยวตัดผ่านซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 ตรงไปตามยังแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor ทางเลือกนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้
3.1 จะมีลักษณะเป็นทางยกระดับจากจุดเริ่มต้นโครงการ ไปจนถึงทางต่างระดับรัชวิภา จนถึงซอยพหลโยธิน 35 แยก 13 จึงลดระดับลงใต้ดินตรงไปตามแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor
3.2 จะมีจุดเริ่มต้นเหมือนทางเลือกย่อยที่ 3.1 ลักษณะเป็นทางยกระดับจนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 แล้วจึงเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดิน บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 แล้วลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยพฤกษ์วิชิต แล้วเลี้ยวซ้ายอ้อมออกไปทางถนนรัชดาภิเษก บริเวณซอยรัชดาภิเษก 48 จนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 38 จึงเลี้ยวขวาไปตามแนวทางเลือกที่ 3.1
ทั้งนี้ กทพ.ประเมินว่าหลังผลการศึกษาโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลจัดหาเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2567 และเร่งรัดให้เริ่มต้นงานก่อสร้างทันทีภายในต้นปี 2568 โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 6 ปี จึงคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573
ส่วนโครงการตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอบอร์ดในเดือน พ.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบเปิดประกวดราคาจัดหาผู้รับเหมางานโยธา โดยคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ชุดใหม่เห็นชอบ และเริ่มเปิดประมูลในปี 2567 และดำเนินการก่อสร้างทันที ระยะเวลาก่อสร้างราว 3-4 ปี เปิดให้บริการประมาณปี 2570 - 2571