ประชาชนหวั่นนโยบาย ‘แจกเงินหมื่น’ ก่อหนี้เพิ่ม

ประชาชนหวั่นนโยบาย ‘แจกเงินหมื่น’ ก่อหนี้เพิ่ม

นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัลเติมเงินให้ขั้นต่ำ 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย กำลังเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพราะมองว่าเป็นประชานิยมมากเกินไปและถูกตั้งคำถามว่า เงินที่จะนำมาใช้ในนโยบายนี้จะมาจากไหน เพราะอาจต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท

การเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองแข่งขันนโยบายกันอย่างเข้มข้น นโยบายที่ออกมายังคงเป็นนโยบายประชานิยม เช่น การเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการจ่ายเงินให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ อย่างกระเป๋าเงินดิจิทัล ของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตร ภายในระยะเวลา 6 เดือน มีผู้ที่เข้าข่ายได้รับเงิน 55 ล้านคน รวมเป็นวงเงินกว่า 5.5 แสนล้านบาท

ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นประชาชน บอกว่า นโยบายที่พรรคการเมืองประกาศออกมายังไม่ชัดเจนว่าแหล่งเงินที่จะนำมาใช้มาจากไหน และจะทำได้จริงหรือไม่ เป็นห่วงว่างบประมาณมากกว่า 5 แสนล้านบาท ที่จะนำมาแจกอาจเป็นการก่อหนี้ให้กับประชาชนในอนาคต เพราะรัฐบาลอาจต้องใช้วิธีกู้เงินมาใช้จ่าย ทั้งนี้ มองว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เพียงการแจกเงิน แต่ควรเป็นนโยบายสร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนมีงานทำ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะยาว

นักวิชาการหวั่นกระทบฐานะการคลัง

ด้านนักเศรษฐศาสตร์ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ มองว่า นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท หากได้ทำจริง มีข้อเสียคือการเพิ่มภาระงบประมาณ และซ้ำเติมหนี้สิน ส่วนข้อดีคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่แล้ว และยังมีเงินจากช่วงเลือกตั้งหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น นโยบายนี้จึงเป็นเรื่องหาเสียงมากกว่า

ด้านอธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุว่า นโยบายนี้จะต้องใช้เงินประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินมาจากงบประมาณประจำปีหรืองบกลาง และอาจจะถูกตั้งคำถามว่าคุ้มค่ามากกว่านโยบายอื่นหรือไม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับการใช้เงินเพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในระยะยาว กับการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินดิจิทัลในระยะสั้นที่อาจไม่คุ้มค่า จะเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน