3 ปี คดีทุจริตจัดซื้อถุงมือยางอคส.ยังไม่จบ เดินหน้าฟ้องอาญา-แพ่ง ต่อ
อคส.โล่งอก หลังป.ป.ช.ฟันโกงจัดซื้อถุงมือยางอคส. ชี้มูลผิดอาญา วินัย รวม 22 ราย เตรียมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาต่อ พร้อมเดินหน้าตามเงินมัดจำ 2 พันล้านคืน
ในที่สุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.ก็ชี้มูลความผิด นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการ องค์การคลังสินค้า พร้อมพวก ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีจัดซื้อถุงมือยาง จำนวน 500,000,000 กล่อง ระหว่างองค์การคลังสินค้า กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่ากว่า 112,500 ล้านบาท
โดยป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้รวม 22 คน ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ใน อคส.ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 3 ราย ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรง 2.กลุ่มผู้บริหารในคณะกรรมการ (บอร์ด) อคส. 1 ราย ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้ายแรง และ3.กลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง 18 ราย ถูกชี้มูลความผิดอาญา และในจำนวนนี้มี 1 รายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงเพิ่มอีก 1 ฐานความผิด
สำหรับพ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการอคส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 1 ราย ที่ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้ายแรงนั้น ให้ส่งรายงาน สำนวนไต่สวนเอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัย ไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัย
ส่วนเจ้าหน้าที่ อคส. อีก 2 ราย คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์ ที่ถูกชี้มูลคามผิดทางอาญาและวินัยร้าแรงนั้น ก่อนหน้านี้ อคส.มีคำสั่งลงโทษไล่ออกไปแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัยอีก ขณะที่ผู้บริหารในบอร์ดอคส. ที่ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้ายแรง ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัยอีกเช่นกัน
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช เป็นการปลดล็อกที่สำคัญอย่างมาก และช่วยฝ่ายที่ไล่จับคนผิดมาลงโทษและติดตามเงินคืน เพราะที่ผ่านมา อคส.ได้รับแรงกดดันแต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่ฝ่ายที่ร่วมกันกระทำความผิดยังลอยนวล
โดยแนวทางดำเนินการหลังจากนี้ มี 3 แนวทางคือ 1.ฟ้องแพ่ง (ฟ้องความรับผิดทางละเมิด) เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกชี้มูลความผิด ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นตรวจสอบของกระทรวงการคลัง หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด ที่อคส.ได้ตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาความรับผิดทางละเมิด ได้พิจารณาแล้วเสร็จ และส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ.2539 พิจารณาต่อแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
2.ฟ้องอาญาทุจริต ผู้ที่ถูกชี้มูลทั้งหมด และ3.ฟ้องอาญาฟอกเงินและแพ่ง ผู้ที่ถูกชี้มูลทั้งหมด ซึ่งอคส. ได้ประสาน ป.ป.ช เพื่อขอข้อมูลการชี้มูลแล้ว จากนั้นจะส่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการ รวมถึงอายัดบัญชีจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยเป็นเงินที่อคส.ได้จ่ายเป็นค่ามัดจำล่วงหน้าการผลิตถุงมือยางให้กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ รวม 2,000 ล้านบาท
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 องค์การคลังสินค้า หรือ อคส. ได้จัดซื้อถุงมือยางล็อตใหญ่ กว่า 500 ล้านกล่อง จากเอกชน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทและมีการจ่ายเงินค่ามัดจำ 2 พันล้านบาทกับบริษัทการ์เดียนโกลฟส์ แต่นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ พบการกระทำทุจริตหลังตรวจสอบบัญชีของอคส.พบความผิดปกติ เงินหายไป 2,000 ล้านบาท จนเป็นที่มาของการเปิดโปงการทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางของอคส.
ผ่านมา 3 ปี ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางแสนล้าน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กระบวนการตามกฏหมายจะไล่บี้นำผู้ที่ทุจริตมารับความผิดที่กระทำขึ้น พร้อมกันนี้ป.ป.ช.ยังส่งข้อมูลจากการไต่สวนให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) พิจารณาเพื่อขอให้ตรวจสอบเส้นทางการเงินต่อไปด้วย ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะการที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่คดียังดำเนินต่อไป จนกว่า ศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาด ดังนั้น ผู้ถูกชี้มูลความผิดทุกคนยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถือได้ว่าเป็นความคืบหน้าของคดีคดีทุจริตจัดซื้อถุงมือยางของอคส.