ส่องแนวโน้มอุตสาหกรรมชิป ท่ามกลางความไม่แน่นอน | รพีภูมิ ลาภมาก
ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมชิปมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและ กลายเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่สำคัญมากที่สุดในโลก โดยชิปเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกประเภท
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านหรือดาวเทียม ซึ่งชิปทำหน้าที่เสมือนสมองคนที่ประมวลผล เก็บข้อมูล และส่งผ่านข้อมูล โดยความต้องการใช้ชิปยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“ชิป” อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์
ชิปคืออุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ อาทิ การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้มากขึ้น เทคโนโลยีทางการทหาร
ในช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ชิปในบางอุตสาหกรรมไม่เพียงพอกับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกหยุดชะงักเป็นระยะ โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
สาเหตุหลักของการขาดแคลนชิปเกิดจากขั้นตอนการผลิตชิปมีความซับซ้อนสูง กระจุกตัวอยู่ในผู้ผลิตไม่กี่ราย มีส่วนแบ่งการตลาดในขั้นตอนการผลิตรวมกันถึง 77% ในไตรมาส 3 ปี 2565 ได้แก่ เกาหลีใต้ (14%) และไต้หวัน (63%)
ที่มา: Counterpoint technology market research
หมายเหตุ: Foundry หมายถึงบริษัทที่รับจ้างผลิตชิป
อีกทั้งสายพานการผลิตชิปสะดุดอยู่บ่อยครั้งจากการปิดโรงงาน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ระยะเวลาในการรอสินค้า (lead time) จากผู้ผลิตนานกว่าปกติ และทำให้ปัญหาการขาดแคลนชิปทวีความรุนแรงขึ้น
ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศให้ความสำคัญกับการผลิตชิปที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยี หันมาส่งเสริมการวิจัย ลงทุน ทั้งเพื่อความมั่นคงของชาติ และเพิ่มขีดความสามารถของการผลิตชิป
อาทิ สหรัฐ ที่ผ่าน “กฎหมาย CHIPS and Science Act” และสหภาพยุโรปที่ประกาศ “ร่างกฎหมาย European Chips Act” สำหรับวิจัย ออกแบบ และผลิตชิปภายในประเทศ
โดยมุ่งสร้างความมั่นคงในสายพานการผลิต ลดการพึ่งพาบริษัทต่างชาติ และรักษาความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งนอกจากภาครัฐเองแล้ว ภาคเอกชนก็กำลังลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกับอุปสงค์ในอนาคตที่จะเพิ่มขึ้น
บริษัทที่ปรึกษา McKinsey คาดว่าอุตสาหกรรมชิปจะเติบโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าเท่าตัว ในปี 2573
อุตสาหกรรมผลิตชิปยังไปต่อ แม้ชะลอในระยะสั้น
วัฏจักรของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้น ถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยสำคัญอย่างความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสภาวะของเศรษฐกิจในช่วงนั้น จึงทำให้เห็นการเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยจะมีช่วงพักตัวตาม วัฏจักร
อย่างเช่นในปัจจุบันวัฏจักรของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในช่วงขาลงจากความต้องการสินค้าที่ลดลง ตามการระบาดที่คลี่คลายและอุปสงค์โลกที่ชะลอลงจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงหลังการเร่งผลิตในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน
ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก
ที่มา: WSTS (World Semiconductor Trade Statistics) คำนวนโดย ธปท.
หมายเหตุ: หากยอดขายในเดือนปัจจุบัน (เส้นสีดำ) อยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 12 เดือน (เส้นสีแดง) จะมองว่าเป็นขาขึ้นจึงไฮไลท์ด้วยแถบสีเขียว ในทางตรงข้ามหากยอดขายปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 12 เดือนถือว่าเป็นขาลง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมรถยนต์ยังคงมีอยู่ เนื่องจากชิปสำหรับรถยนต์ที่ผลิตได้น้อยกว่าและโรงงานใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานกว่ายังคงขาดแคลน
ในระยะต่อไป ความต้องการใช้ชิปยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แม้อุตสาหกรรมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะชะลอตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและข้อมูลการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มประเทศในเอเชีย
แต่คาดว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ภายหลังการทยอยระบายของสินค้าคงคลังและอุปสงค์โลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5G ที่ต้องการใช้ชิปในปริมาณที่มากขึ้น อาทิ data center ยานยนต์ไร้คนขับ smart home/city และระบบแพทย์ทางไกล
Tech war สงครามที่ยังไม่มีผู้ชนะ
สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ - จีนได้ขยายวงสู่สงครามเทคโนโลยี (Tech War) ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นภายหลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้น blacklist บริษัทเทคโนโลยีของจีนหลายสิบแห่ง
อีกทั้งมีการออกข้อห้ามสำหรับการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับการผลิตชิปขั้นสูง (ขนาดเล็ก) ให้กับจีนหากไม่มีใบอนุญาต และห้ามประชาชนให้การช่วยเหลือจีนในการพัฒนาชิปขั้นสูงในเดือน ต.ค. 65 ซึ่งญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ได้เข้าร่วมในภายหลัง
โดยมุ่งสกัดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางการทหาร
ข้อห้ามเหล่านี้แม้จะสำเร็จในการกีดกันเทคโนโลยีขั้นสูงจากจีน และทำให้เป้าหมายพึ่งพาตนเองของจีนทำได้ช้าลง แต่กลับเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิตชิปของโลก
เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นนั้นมีต้นทุนที่สูงขึ้นมากหากเทียบกับการผลิตในจีน เนื่องจากต้องมีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโรงงานใหม่ รวมถึงค่าแรงและค่าสาธารณูปโภคที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการสร้างโรงงานในสหรัฐฯ เยอรมนี หรือ ญี่ปุ่น
เพราะเมื่อเทียบกับจีนแล้ว ค่าจ้างสำหรับแรงงานที่มีทักษะสูงและค่าสาธารณูปโภคสูงกว่าเท่าตัวโดยเฉลี่ย
อย่างไรก็ดี จีนไม่ได้นิ่งนอนใจและเลือกใช้แผนตั้งรับซึ่งเป็นผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่จะไม่ถูกรบกวนไปมากกว่านี้ หลังจากที่สหรัฐฯได้ประกาศใช้มาตรการดังกล่าวไป
โดยจีนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ตามทันเทคโนโลยีของสหรัฐฯ และขยายกำลังการผลิตชิปขนาดใหญ่ (ไม่โดนผลกระทบของมาตรการสหรัฐฯ) ที่พร้อมผลิตได้ด้วยตัวเองทั้งหมด
โดยหลีกเลี่ยงชิปขนาดเล็กที่ขยายกำลังการผลิตได้ยากและต้องพึ่งพาต่างชาติมาก ซึ่งผลกระทบต่อตลาดชิปขนาดใหญ่จะมีต่อประเทศที่มีจีนเป็นลูกค้าหลัก และจะถูกจีนมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดด้วย
ที่สำคัญคือการมุ่งเน้นที่ชิปขนาดใหญ่นี้ ช่วยให้จีนยังคงความเป็นผู้นำในตลาดรถ EV ได้ เพราะชิปสำหรับผลิตรถยนต์ EV ส่วนใหญ่เป็นชิปขนาดใหญ่ จีนจึงยังเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่นี้ โดยในปี 2565 จีนสามารถขายรถ EV ได้ถึง 5.7 ล้านคัน ขณะที่สหรัฐฯ ขายได้เพียง 8 แสนคัน
กล่าวโดยสรุปชิปจะยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ ที่เป็นหัวใจของเทคโนโลยีในโลกอนาคต ส่งผลให้หลายประเทศมีการเร่งออกนโยบาย เพื่อสร้างความมั่นคงและเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมชิป
แต่ทว่าสงครามชิปที่ร้อนระอุระหว่างสหรัฐฯ และจีนเป็นสงครามที่อาจไม่มีผู้ชนะ ซึ่งกำลังกระทบต่อประเทศในห่วงโซ่อุตสาหกรรมและกำลังจะส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เราจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ
ธนาคารแห่งประเทศไทย และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนในบทความนี้ต้องกระทำโดยถูกต้องและอ้างอิงถึงผู้เขียน
ทัศนะ แจงสี่เบี้ย
รพีภูมิ ลาภมาก
เศรษฐกร
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
ธนาคารแห่งประเทศไทย