‘ครม.’ ไฟเขียวมติบอร์ดสิ่งแวดล้อม เดินหน้า 3 ‘เมกะโปรเจกต์’ 7.6 พันล้าน
ครม.รับทราบมติคกก.สิ่งแวดล้อม เห็นชอบเดินหน้าโครงการคมนาคมสำคัญ 3 โครงการ วงเงินรวม 7.6 พันล้าน ทั้งมอเตอร์เวย์เชื่อมสนามบินอู่ตะเภาในพื้นที่ EEC โครงการขยายรันเวย์สนามบินบุรีรัมย์ และโครงการเชื่อมเกาะลันตา จ.กระบี่ โดยให้รับความเห็นของคกก.ไปดำเนินการ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการลงทุน หรือโครงการร่วมลงทุนระหว่างเอกชนและภาครัฐ (PPP) ตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยการรายงานการประเมิน EIA มีโครงการสำคัญในส่วนของกระทรวงคมนาคม ที่ครม.รับทราบ 3 โครงการ วงเงินรวม 7,662 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภาของกรมทางหลวง วงเงิน 4,508 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้านคมนาคมขนส่งภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด เพื่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 5 ปี (พ.ศ. 2560-2565)
โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณ (กรุงเทพฯ-พัทยา) เป็นการขยายช่องจราจรระดับดินเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร และก่อสร้างทางแนวใหม่เป็นทางยกระดับพาดผ่านพื้นที่หมู่ 3 บ้านสระแก้ว ตำบลสำนักท้อน อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง มีทิศทางมุ่งหน้าทิศใต้ผ่านทางรถไฟสายตะวันออก และเขตพื้นที่ของกรมต่อสู้อากาศยานที่ 1 ไปเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) โดยเชื่อมต่อกับสนามบินอู่ตะเภาด้วยทางแยกต่างระดับ รวมระยะทาง 2.486 กิโลเมตร
ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (คชก.) ของสำนักนโยบายเเละเเผนทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม (สผ.) ได้ให้ความเห็นว่าเพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น โครงการการจ่ายค่าชดเชยเวนคืนที่ดินต้องจ่ายงวดเดียวและให้เสร็จสิ้นก่อนการก่อสร้างโครงการการ รวมทั้งจัดให้มีบุคคลที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบด้านความปลอดภัยในงานก่อสร้างโครงการ
รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ความเร็วและทิศทางลม เสียง ความสั่นสะเทือน สำรวจสภาพเศรษฐกิจสังคมและสังคม ปีละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี และดำเนินการทุก 5 ปี จนถึงปีที่ 30 และการจัดการเรื่องร้องเรียนการป้องกันแก้ไขผลกระทบของปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการ ความถี่ปีละ 1 ครั้ง ตลอดอายุโครงการฯ
โดยโครงการนี้กระทรวงคมนาคมมีกำหนดประกวดราคาหาผู้รับจ้างภายในปี 2566 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2566 ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างกว่า 2-3 ปี และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568-2569
2.โครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ของกรมท่าอากาศยาน วงเงิน 1.3 พันล้านบาท โดยโครงการนี้กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม เสนอให้มีการปรับปรุงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ โดยขยายความยาวรันเวย์จากเดิม 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ที่จะเดินทางมาลงยังสนามบินบุรีรัมย์มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการปรับขนาดพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่งทั้ง 2 ฝั่ง ขยายลานจอดเครื่องบิน ก่อสร้างอาคารคลังสินค้าเพิ่มเติม และขยายผิวถนนทางเข้า-ออกท่าอากาศยานฯ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวทางกีฬาของจังหวัดบุรีรัมย์
โดยโครงการนี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้เสนอแนะให้กรมท่าอากาศยานดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัดและตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้
รวมทั้งให้ไปพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม ในประเด็นการเพิ่มเติมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) ด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนในพื้นที่และพื้นที่โดยรอบโครงการและมาตรการด้านการจัดหาที่ดินและการชดเชยทรัพย์สินไว้ในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย
3.โครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ตำบลเกาะกลาง-ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ของกรมทางหลวงชนบท วงเงิน 1,854 ล้านบาท โดยโครงการนี้ กระทรวงคมนาคมรายงานว่าเป็นโครงการสะพานเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 4206 บริเวณบ้านหัวหิน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เชื่อมต่อกับทางหลวงชนบท บริเวณบ้านทุ่งโต๊ะหยุม ในพื้นที่ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่รวมระยะทาง 2.527 กิโลเมตร
ประกอบด้วย โครงสร้างสะพานคานขึงและโครงสร้างสะพานคานยื่นจุดกลับรถ 3 จุด จุดชมวิวบนสะพาน 2 จุด ซึ่งในการศึกษาเส้นทางโครงการฯ ได้ออกแบบเพื่อเลี่ยงแนวปะการังรอบเกาะปลิง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเดินทางให้กับประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาระหว่างเกาะลันตากับแผ่นดินใหญ่ให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย เป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่ง
คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เสนอให้มีกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ให้ทำการล้อมม่านดักตะกอน โดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ติดตั้งกำแพงกันเสียงชั่วคราว ตั้งงบประมาณให้กรมป่าไม้และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อปลูกป่าทดแทน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน และจัดให้มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน
รวมทั้งได้กำหนดมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น ตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเล ระดับเสียง จำนวนและสภาพการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกทดแทน 1 ครั้งต่อปี ตรวจวัดความหลากหลายของสัตว์ในระบบนิเวศ การแพร่กระจายของสัตว์ในพื้นที่ศึกษาระยะ 500 เมตร จากแนวเส้นทางโครงการ 2 ครั้งต่อปี และสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ 1 ครั้งต่อปี ตลอดระยะเวลาก่อสร้าง และในระยะดำเนินการ 1 ครั้งต่อปี
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มก่อสร้างประมาณปี 2566 และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ในปี 2569