2 ค่ายรถจีน ‘ฉางอัน-GAC Aion’ ลงทุนไทยผลิต EV 1.6 หมื่นล้าน
“ฉางอัน-GAC Aion” เตรียมยื่นขอบีโอไอลงทุนผลิตอีวี 1.6 หมื่นล้าน “นฤตม์“ ชี้ ค่ายรถจีนพาเหรดลงทุนไทย เผยอีก 3 บริษัท ”Geely-JAC-JMC” เตรียมตัดสินใจขั้นสุดท้าย มั่นใจอีโคซิสเต็มในไทย สนลงทุนกระบะ-รถบรรทุกไฟฟ้า หนุนไทยผลิตครบทุกเซ็กเมนต์ เป็นศูนย์กลางผลิตอีวีเต็มตัว
Key Points
- ค่ายรถจีนเข้ามาลงทุนผลิต EV ในไทยอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ BYD และ GWM ได้รับส่งเสริมการลงทุนแล้ว
- มีค่ายรถจีน 2 บริษัท คือ "ฉางอัน“ และ ”GAC Aion” กำลังมีแผนลงทุนในไทยรวม 16,200 ล้านบาท
- BOI หารือกับค่ายรถจีนอีก 3 ราย คือ Geely, JAC และ JMC ที่สนใจเข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย
- JAC และ JMC เป็นผู้ผลิตรถเชิงพาณิชย์ เช่น รถปิ๊กอัพ รถบรรทุก จะทำให้ไทยผลิตรถครบทุกเซ็กเมนต์
ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของจีนเดินหน้าเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยขยายตัวมาที่สุดในอาเซียน รวมทั้งมีการพัฒนาอีโคซิสเต็มเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนต่างทยอยเข้ามาหารือหน่วยงานที่ข้องเพื่อเตรียมการลงทุนในไทย โดยล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับบริษัท GAC Aion ที่ต้องการพื้นที่ 500 ไร่ สำหรับการตั้งโรงงาน มูลค่าการลงทุน 6,400 ล้านบาท กำลังการผลิตปีละ 100,000 คัน และกำลังจะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน
ส่วนบริษัท BYD ที่ส่งรถนำเข้ามาตีตลาดไทยได้สักพักแล้ว ได้วางศิลาฤกษ์ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบนพื้นที่ 600 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรม WHA ระยอง 36 อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2566 กำลังการผลิตปีละ 150,000 คันรวมทั้งได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อเดือน ม.ค.2566 มูลค่าลงทุน 3,893 ล้านบาท และถ้ารวมทุกโครงการของ BYD ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจะมีมูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท
ในขณะที่บริษัทรถยนต์ของจีนที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) มี 2 ราย คือ MG และ GWM
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า ไทยถือเป็นเป้าหมายการลงทุนลำดับแรกในอาเซียนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าจีน เพราะไทยมีความพร้อมทุกด้านสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก รวมทั้งทุกรายยังให้ความสนใจการขยายมาตรการสนับสนุน EV หรือ EV 3.5 ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) แล้ว
ทั้งนี้ บีโอไอประเมินว่ามีการลงทุนจากกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งไม่รวมการลงทุนจากBYD ที่ได้ขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และชิ้นส่วนในไทยแล้ว 6 โครงการ รวมมูลค่า 30,000 ล้านบาท
“ฉางอัน” ลงทุนไทย 9.8 พันล้าน
ล่าสุด บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล หนึ่งในผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและระบบขับขี่อัจฉริยะ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของจีน ด้วยยอดขายกว่า 2 ล้านคันในปีที่แล้ว ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2566 ว่าบริษัทตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เป็นแห่งแรกนอกประเทศจีน ด้วยเงินลงทุน 9,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) และแบตเตอรี่ กำลังการผลิตในระยะแรก 100,000 คันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตเร็ว ทั้งจำหน่ายตลาดในประเทศและส่งออกไปอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้
“บีโอไอร่วมเจรจากับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฉางอันอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งบีโอไอได้เดินทางไปพบกันที่จีนเมื่อต้นเดือน เม.ย.เพื่อชี้แจงข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย รวมทั้งได้ตอกย้ำมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิต EV ระดับโลก ส่งผลให้บริษัทฉางอัน ออโตโมบิล มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย”
มั่นใจอีโคซิสเต็มในไทย
สำหรับแผนการลงทุนในไทยบริษัทได้เริ่มศึกษาข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2563 และหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ อย่างใกล้ชิด ในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนเชิงลึก รวมถึงส่งทีมงานมาพบผู้บริหารบีโอไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง เพื่อหารือมาตรการสนับสนุนและรวบรวมข้อมูลประกอบการวางแผนการลงทุน
“การตัดสินใจลงทุนในไทยของฉางอัน เป็นอีกก้าวสำคัญของการส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก อีกทั้งแสดงถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมEV แบบครบวงจร”
รวมทั้งซัพพลายเชนที่พร้อมรองรับการผลิต EV โดยบริษัทฉางอันเริ่มหารือกับซัพพลายเออร์ในไทย เพื่อให้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆส่งให้กับบริษัท ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งรายเล็กและรายใหญ่ด้วย
นอกจากนี้ บีโอไอจะเดินหน้าทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ดึงผู้ผลิต EV รายอื่นๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐ ให้เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม ควบคู่กับการส่งเสริมระบบชาร์จไฟฟ้าและ ecosystem ที่จำเป็น เพื่อให้ฐานอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
GAC Aion เตรียมยื่นขอบีโอไอ
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมเพิ่มอีกอย่างน้อย 2 โครงการ รวมมูลค่า 16,200 ล้านบาท จากบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ซึ่งวางแผนจะยื่นขอรับการส่งเสริมภายในเดือน พ.ค.2566 และบริษัท GAC Aion ที่ได้มาหารือร่วมกับบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรม โดยประกาศแผนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยกว่า 6,400 ล้านบาทเมื่อปลายเดือน มี.ค.2566 ขณะที่ผู้ผลิตอีวีรายอื่นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่คาดว่าจะมีข่าวดีแน่นอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) รวมทั้งหมด 26 โครงการ จาก 17 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท
ลุ้นอีก 3 รายเข้ามาลงทุนไทย
นอกจากนี้ การไปโรดโชว์ที่จีนในช่วงต้นเดือน เม.ย.2566 นอกจากบีโอไอจะหารือการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับ BYD และบริษัทฉางอัน ออโตโมบิล แล้ว บีโอไอ ยังได้หารือกับบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าของจีนอีก 3 รายที่เป็นเจ้าตลาด คือ Geely, JAC และ Jiangling Motors (JMC)
โดยทั้ง JAC และ JMC เป็นผู้ผลิตรถกระบะและรถบรรทุกไฟฟ้าชั้นนำ โดยทุกรายแสดงความสนใจลงทุนผลิต EV ในไทยและสนับสนุนไทยให้เป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค เพราะไทยมีนโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมแบบครบวงจร มีซัพพลายเชนของชิ้นส่วนที่พร้อมรองรับการผลิต EV อีกทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพและตลาดในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวสูง
“JAC และ JMC เป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น ปิ๊กอัพ รถบรรทุก โดยถ้าเข้ามาลงทุนในไทยจะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งจะทำให้ไทยมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งทุกรายมีการศึกษาแผนการลงทุนในไทยแล้ว เช่น ที่ตั้งโรงงาน”
สำหรับรูปแบบการลงทุนในไทยจะมี 3 รูปแบบ คือ
1.การลงทุนตั้งโรงงานเอง
2.การร่วมทุนตั้งโรงงาน
3.การจ้างผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
โดยบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าของจีนที่กำลังวางแผนเข้ามาลงทุนในไทยมีการมองรูปแบบการลงทุนทั้ง 3 แนวทางไว้และอยู่ระหว่างการตัดสินใจรูปแบบการลงทุน รวมทั้งบางรายมีการหารือกับพันธมิตรผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แล้ว
ค่ายรถอีวีจับคู่ผู้ผลิตชิ้นส่วน
นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอร่วมกับเอกชนจัดงานซับคอน ไทยแลนด์ 2023 ที่ไบเทคบางนา วันที่ 10-13 พ.ค.2566 เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการจัดซื้อและรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ซึ่งสอดรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่ (New Economy)
ทั้งนี้ จะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนคุณภาพและการเชิญบริษัทผู้ซื้อชิ้นส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาภายในงานมากที่สุด 400 บริษัท จาก 10 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เยอรมัน เบลเยียม โดยมีไฮไลต์ 7 ค่ายรถยักษ์ใหญ่เข้าร่วมจับคู่เจรจาธุรกิจได้แก่ โตโยต้า ไดฮัทสุ, นิสสันมอเตอร์, บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส, บีเอ็มดับเบิลยู, เมอร์เซเดส-เบนซ์, เอสเอไอซีมอเตอร์-ซีพี, อีซูซุมอเตอร์