อนุฯ Ft 'ลดค่าไฟ' 4.70 บาท ชงกกพ. เคาะ 24 เม.ย.นี้ เอกชน ชี้ ลดได้ถึง 4.37 บาท
อนุกรรมการค่า Ft เคาะ "ลดค่าไฟ" เหลือ 4.70 บาท/หน่วย ยืนตามข้อเสนอกฟผ. ยืดหนี้จาก 2 ปีเป็น 2 ปี 4 เดือนเร่งชงบอร์ด กกพ. เคาะ 24 เม.ย.นี้ เอกชน แนะ ควรเอาราคาจริง LNG มาคำนวนจะช่วยลดทันที 4.37 บาท
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าFt) วันที่ 21 เม.ย. 2566 พิจารณาเห็นชอบตามปรับลดค่าเอฟทีงวดใหม่ สำหรับเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อนจาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับเดือนพ.ค.-ส.ค.2566 ลดลงจาก 4.77 บาท/หน่วย เป็น 4.70 บาท/หน่วย โดยหลังจากนี้จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 24 เมษายน 2566 เพื่อมีมติเปิดรับฟังความเห็น 5-7 วัน และเสนอบอร์ดกกพ.พิจารณาเคาะราคาเพื่อประกาศใช้ต่อไป
"ตามขั้นตอนการพิจารณาของกกพ. ทันบิลค่าไฟรอบเดือนพฤษภาคมแน่นอน เพราะบิลค่าไฟจะเริ่มออกตั้งแต่ 10 พ.ค.เป็นต้นไป"
โดยก่อนหน้านี้ กฟผ. มีหนังสือยืนยันจะยืดหนี้นั้นระบุว่า สำหรับงวดที่ 2/2566 (พ.ค.-ส.ค.) สามารถจัดการด้านสภาพคล่องได้ แต่สำหรับงวด 3/2566 (ก.ย.-ธ.ค.) อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถที่จะยืดหนี้ได้อีก ระบบหรือประชาชนก็จะต้องคืนหนี้แก่ กฟผ. โดยหนี้วงเงินเต็มนั้น อยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และมีการคืนหนี้ในงวดที่ 1 /66 (ม.ค.-เม.ย.) ไปแล้ว วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การพิจารณาลดค่าFTลงมาจาก เหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย จาก 4.77 บาทต่อหน่วย ถือว่าไม่มาก และไม่ใช่ราคาที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) คำนวณต่ำกว่า 4.40 บาทต่อหน่วย ถือเป็นการลดกระแสได้ระดับหนึ่ง ประกาศ กกพ. เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2566 ที่มีมติเก็บค่าไฟฟ้าเอกชนเหลือ 4.77 บาทต่อหน่วยจากกว่า 5 บาทต่อหน่วย แต่กลับไปเพิ่มในกลุ่มครัวเรือนจาก 4.72 บาทต่อหน่วยเท่ากัน จึงไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น ที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนในช่วงที่พลังงานโลกต่ำลง
ดังนั้น การลดราคาลงครั้งนี้เป็นการยืดหนี้ของ กฟผ. เพื่อให้ครัวเรือนไม่แพงกว่าเดิม แต่สิ่งที่ตนเข้าใจว่าหลายคนอยากรู้ว่าทำได้ดีกว่านี้ได้หรือไม่ เพราะไม่มีการพิจารณาในเรื่องของโครงสร้าง แม้จะใช้เวลาในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาเชิงพื้นฐานที่ กกร. เสนอมาตรการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขเฉพาะค่าไฟงวดที่ 2 มีเพียง 2 มาตรการ คือ
1. ยืดหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับกฟผ. ซึ่งคณะอนุฯ ได้ดำเนินการแล้ง และ
2. ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุน ค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วง เดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือนม.ค. 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้ ซึ่งการนำเข้า LNG เป็นตัวสำคัญในการนำมาเป็นพลังงานผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศได้มีราคาลดลงมามากตลอดจากเดิมเคยขึ้นไประดับ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ในช่วงส.ค. 2565 แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
"ตัวเลขที่เราทำโดยไม่ต้องใช้งบประมาณมาสนับสนุนเมื่อคำนวณราคา LNG นำเข้าขณะนี้จะทำให้ค่าไฟเหลือไม่ถึง 4.40 บาททันที หากในช่วงเวลาปกติก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคา LNG นำเข้าอยู่ที่ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เมื่อมีสงครามขยับขึ้นสูงมากและกลับมาอยู่ที่ไม่ถึง 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูในช่วงนี้ที่ราคาเฉลี่ยที่ 12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งภาครัฐใช้ข้อมูล LNG นำเข้าที่ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เกิดผลต่าง 7 ดอลลาร์ คิดเป็น 35% ซึ่ง LNG นำเข้ามีสัดส่วนถึง 45% ของ Pool gas โดยสัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่ 60% ดังนั้น หากนำราคาค่าไฟ 4.77 บาท ลบส่วนต่างจะเหลือ 4.34 บาททันที"