จับตาส่งออกข้าวไทย-เวียดนาม ระอุ ยอดส่งออกไตรมาสแรกเบียดสูสี
กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดส่งออกข้าว 3 เดือนแรกปี 66 ทะลุ 2 ล้านตัน ด้านเวียดนามไตรมาสแรกส่งออกข้าวได้ 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19% คาดส่งออกได้เพิ่มอีก จากแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป - เวียดนาม (EVFTA) ทำส่งออกไปอียูเพิ่มขึ้นจากราคาข้าวได้เปรียบคู่แข่ง
ปี 2565 ไทยส่งออกข้าวรั้งอันดับ 2 ของโลก โดยส่งออกได้ 7.69 ล้านตัน เบียดเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญที่ครองอันดับ 2 ของโลกติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี โดยเวียดนามส่งออกได้ 6.31 ล้านตัน แม้ว่าในปี 2565 เวียดนามจะถูกไทยเบียดแซงหล่นมาเป็นอันดับ 3 แต่เวียดนามก็ยังเป็นผู้ส่งออกข้าวในอันดับต้นของโลกอยู่ จากความได้เปรียบในเรื่องของพันธุ์ข้าวที่ตรงต่อความต้องการของตลาด และราคาข้าวของเวียดนาม ไม่มีความผันผวนเกินไป ราคาข้าวยังคงที่ ทำให้สามารถทำตลาดค้าข้าวกับลูกค้าได้ง่าย โดยในปี 2566 เวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 16 %
ผ่านมา 3 เดือน ตั้งแต่ม.ค.-มี.ค.หรือในไตรมาสแรกปี 2566 ไทยและเวียดนามส่งออกข้าวในปริมาณใกล้เคียงกัน โดยในส่วนของไทย “รณรงค์ พูลพิพัฒน์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าข้าวในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยส่งออกได้ 2,063,927 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.48% (321,625 ตัน) มีมูลค่า 38,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.26% ( มีปริมาณ 2,063,927 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.48% (321,625 ตัน)
โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อิรัก คิดเป็น 16.38% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย (13.08%) สหรัฐอเมริกา (8.62%) แอฟริกาใต้ (8.24%) และเซเนกัล (5.86%) ตามลำดับ
ทั้งนี้ ยอดการส่งออกข้าวไทยที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา อาทิ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ อิรัก แอฟริกาใต้ และเซเนกัล ยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้าวในประเทศและรักษาความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับในปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวไทยจะเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยผลผลิตข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมี.ค. – เม.ย.ทำให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้
ด้านการส่งออกข้าวของเวียดนาม โดยเว็ปไซต์ https://vietnamnet.vn/ รายงานว่า กรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่า ไตรมาสที่1 ของปี 2566 เวียดนาม ส่งออกข้าว 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 19% มูลค่ากว่า 900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 30 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade: MoIT) ระบุว่า ข้าวเวียดนามประสบความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพ และความต้องการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ข้าวที่ส่งออกมาจาก สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
นาย Le Thanh Tung รองผู้อำนวยการแผนกเพาะปลูกพืชภายใต้กระทรวงเกษตรและการ พัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) กล่าวว่า ในปี2566 การผลิตข้าวในพื้นที่สามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขงคาดว่าจะสูงถึง 24 ล้านตัน โดยนครโฮจิมินห์ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของเวียดนามมีการบริโภคจะอยู่ที่ ประมาณ 11 ล้านตัน และสำหรับการส่งออก 13 ล้านตัน
โดยข้าวคุณภาพระดับพรีเมียมสำหรับการส่งออกมีสัดส่วน 3 ล้านตัน ข้าว พิเศษ 2.1 ล้านตัน และข้าวธรรมดา 1 ล้านตัน สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) กล่าวว่า แนวโน้มที่ข้าวของเวียดนามจะยังเป็นที่ต้องการต่อไป ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี2566 เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ได้แก่ ฟิลิปปินส์จีน และแอฟริกา นาย เหงียน หงอก นาม (Nguyen Ngọc Nam) ประธานสมาคมฯ กล่าวว่า ข้าวเวียดนามได้ราคาที่ดีในตลาดต่างประเทศ แม้ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มถดถอย ในขณะที่ประเทศต่างๆ ต้องการกักตุนอาหารในอนาคต
นอกจากนี้ข้อตกลงการค้าเสรีที่สำคัญ ได้แก่ ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป - เวียดนาม (EVFTA) ได้ลดภาษีศุลกากรข้าวเวียดนามลงมากถึง 175 ยูโรต่อตัน ทำให้ข้าว พรีเมียมของเวียดนามได้เปรียบในตลาดยุโรป ในขณะที่ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ผู้ส่งออกพยายามที่จะซื้อจากเกษตรกรด้วยราคาที่ สูงขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลกำไรสูงสุด
นางสาวธนียา ฟูเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย แสดงความเห็นว่า เวียดนามเป็นประเทศอันดับต้นๆ ในด้านการส่งออกข้าว ปัจจุบันสินค้าข้าวของเวียดนามเป็นสินค้าที่มีศักยภาพสูงในการ ส่งออก เนื่องจากมีการพัฒนาคุณภาพมากขึ้น อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น คุณภาพที่ดีขึ้นส่งเสริมให้ความต้องการนำเข้าข้าวเวียดนามจาก ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้าวของเวียดนามมีโอกาสเพิ่มปริมาณและ มูลค่าส่งออกข้าว
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามคาดว่า การส่งออกข้าวของเวียดนามในปี2566 มีมูลค่า 393-394 ล้านดอลลาร์สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ นอกจากนั้น ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม (EUVietnam Free Trade Agreement - EVFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนส.ค. 2563 เป็นโอกาสให้การส่งออกข้าวของเวียดนาม เข้าสู่ตลาดที่มีมาตรฐานสำหรับข้าวสูงส่งผลทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบในการส่งออกข้าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปมากขึ้น
เวียดนาม ถือเป็นคู่แข่งการส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย เพียงแค่ไตรมาสแรก ตัวเลขการส่งออกของข้าวไทยและเวียดนามไม่แตกต่างกันมาก เนื่องจากราคาข้าวไทยสามารถที่จะแข่งขันได้ แต่หลังจากนี้ไปคงต้องจับตาการส่งออกในระยะต่อไป เพราะเวียดนามมีข้อได้เปรียบทั้งเรื่องราคาข้าว เอฟทีเอ และพันธุ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งก็มีโอกาสการส่งออกข้าวทั้งปีของเวียดนามจะเบียดแซงข้าวไทยกลับขึ้นมารั้งอันดับ 2 อีกครั้ง แม้ว่าปีนี้ไทยจะตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ 8 ล้านตัน