สนพ.ชี้ราคา ‘เชื้อเพลิง’ ต้นตอค่าไฟแพง
สถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งเดือน มี.ค.-พ.ค.จะมีปริมาณการใช้ไฟเพิ่มขึ้น โดยโครงสร้างค่าไฟมีส่วนประกอบหลายส่วน คือ 1.เชื้อเพลิง 2.ต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้า 3.ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า 4.ต้นทุนขายปลีกและจำหน่าย
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ.วัฒนพงษ์ คุโรวาท ระบุ สถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อน ซึ่งเดือน มี.ค.-พ.ค.จะมีปริมาณการใช้ไฟเพิ่มขึ้น โดยโครงสร้างค่าไฟมีส่วนประกอบหลายส่วน คือ 1.เชื้อเพลิง 2.ต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้า 3.ต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า 4.ต้นทุนขายปลีกและจำหน่าย เมื่อดูโครงสร้างค่าไฟตั้งแต่ต้นปี 2566 ไม่ได้ขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) โดยประชาชนจ่ายหน่วยละ 4.72 บาท เท่าช่วงหน้าหนาว ส่วนภาคธุรกิจจ่ายหน่วยละ 5.33 บาท ซึ่งงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติลดค่าเอฟทีและเก็บหน่วยละ 4.70 บาท เท่ากันทุกภาคส่วน
ค่าไฟหลัก ๆ มาจากต้นทุนเชื้อเพลิง การเปลี่ยนผ่านสัมปทานมีผลต่อกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย แหล่งเอราวัณที่มีต้นทุนถูก 5-6 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู หายไปจากสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) จากเดิม 5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ขึ้นมาถึง 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และปัจจุบันลดลงมาที่ 12-13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู อย่างไรก็ตาม ในช่วงจังหวะที่ก๊าซในอ่าวไทยหายไปถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงต้องนำเข้าแอลเอ็นจีจากเป้าเดิม 300 ล้านลูกบาศก์ฟุต เป็น 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต ถือว่าค่อนข้างเยอะจึงกระทบค่าไฟเพราะต้นทุนค่อนข้างสูง
ดังนั้น วิธีบริหารเพื่อลดต้นทุนคือปรับสูตรการคำนวณราคา (Pool GAS) โดยใช้เชื้อเพลิงอื่นทั้งดีเซลและน้ำมันเตามาผลิตช่วงราคาแอลเอ็นจีแพง ซึ่งจากการบริหารจัดการในเดือน ม.ค.-ธ.ค.2565 ลดได้เกือบ 40 สตางค์ต่อหน่วย เป็นมูลค่าเกือบ 8 หมื่นล้านบาท อีกทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระค่าเอฟทีชั่วคราว 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นค่าไฟ 75 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงใช้งบกลาง 10,725 ล้านบาท ช่วยเหลือ 22 ล้านครัวเรือน
ช่วง ม.ค.-เม.ย.2566 ค่าไฟอาจแพงสุด ที่มาจากราคาก๊าซที่ดีเลย์ แต่จะค่อยๆ ลดลง จากปริมาณก๊าซอ่าวไทยเพิ่มเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือน ส.ค.และเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปลายปีนี้ บวกกับราคาแอลเอ็นจีนำเข้าถูกลงจากสมมุติฐานที่ กกพ.คำนวณ ซึ่งหากราคาสมมติฐานถูกกว่าจะนำไปลดค่าเอฟทีงวดถัดไป ซึ่งอยากให้ประชาชนช่วยกันประหยัด
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทเป็นอีกปัจจัยทำให้ค่าไฟแพงเช่นกัน จะเห็นว่าก่อนหน้านี้ ที่ค่าไฟถูกค่าเงินอยู่ระดับ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ เมื่อคูณเข้าไปจึงค่อนข้างสูง จริงๆ อาจจะลดได้บางส่วน แต่ที่ กฟผ.แบกรับต้องทยอยคืนตอนนี้เหลือ 6 งวด งวดละ 20,000 ล้านบาท จึงอาจทำให้ค่าไฟบางส่วนที่ยังสูงอยู่ เพื่อให้ กฟผ.มีสภาพคล่องและดำเนินธุรกิจต่อได้
ทั้งนี้ ในการคำนวณราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยบวกกับสัญญาแอลเอ็นจีระยะยาว 5.2 ล้านตัน ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 230-250 บาทต่อล้านบีทียู แต่ในช่วงที่วิกฤติราคาน้ำมันและก๊าซสูงขึ้นมาก เชื้อเพลิงที่มีการ Pool GAS ของปี 2565 กระโดดไปที่ 450 บาทต่อล้านบีทียู จึงมีผลต่อราคาค่าไฟ ถือเป็นวิกฤติพลังงานทั้งโลกจะเห็นว่าหลายประเทศในปี 2565 ค่าไฟสูงขึ้นจากปี 2564 อย่างเห็นได้ชัด เช่น อิตาลี ค่าไฟเฉลี่ยจาก 7.03 บาท เป็น 20.27 บาท เพิ่มขึ้น 188%, สวีเดน จาก 4.94 บาท เป็น 12.71 บาท เพิ่มขึ้น 157%, สเปน จาก 6.98 บาท เป็น 13.02 บาท เพิ่มขึ้น 87%, สิงคโปร์ 6.84 บาท เป็น 8.40 บาท เพิ่มขึ้น 23% ส่วนประเทศไทยจาก 3.60 บาท เป็น 4.72 บาท เพิ่มขึ้น 19%
ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังผลิตตามสัญญา 52,566 เมกะวัตต์ แต่จะคิดกำลังผลิตที่พึ่งพิงได้ที่ 45,225 เมกะวัตต์ หากเทียบเวลาที่ใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ปี 2565 ที่ 33,177 เมกะวัตต์ ดังนั้น ที่ระบุว่าการสำรองไฟถึง 50-60% ไม่ถูกต้องหากจะเอาตัวเลขกลมๆ มาบวกลบ
นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของสถานการณ์ไฟฟ้าวันนี้ต้องเปลี่ยนไปเป็นพลังงานสะอาดนั้น ค่าไฟบางส่วนต้องแพงจากมาตรการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งในอดีตจะมีแอดเดอร์ที่มีราคาแพง เพราะเทคโนโลยียังใช้ไม่เยอะ และทำให้ต้นทุนการลงทุนแพงเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันอยู่ระดับ 20 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ ยอมรับว่านโยบายภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งของค่าไฟ 5% จึงต้องพิจารณาราคาสนับสนุนพลังงานทดแทน โดยจะทบทวนทุกปีตามต้นทุนจริงเพื่อให้ราคาถูกลง อาทิ การเปิดรับซื้อโครงการพลังงานทดแทนเพื่อให้ราคาจะถูกกว่าต้นทุนเฉลี่ยการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีพลังงานหมุนเวียน (RM) มากจะมีสำรองไฟสูงขึ้น โดยแบ่งตัวอย่างสัดส่วน RM ปี 2559 อาทิ สเปน มี RM ที่ 180% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 51.1%, อิตาลี RM 136% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 44.8%, โปรตุเกส RM 130% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 64.1%, เดนมาร์ก RM 130% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 52.1% เยอรมัน RM 111% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50.2%, จีน RM 91% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 33.1%, มาเลเซีย RM 51% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 25.7% ส่วนไทย RM 39% สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 21.8% เป็นต้น
แม้ว่าพลังงานทดแทนยังไม่เสถียรจึงต้องมีระบบรองรับ จะเห็นว่าด้านคุณภาพบริการของไทยดีอันดับต้นของอาเซียน เพราะต้องเตรียมพร้อมให้กลุ่มอุตสาหกรรม เพราะหากไฟดับ 1 ครั้ง สร้างมูลค่าความเสียหายราว 90,000 บาท แต่อนาคตจะมีเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ ซึ่งตอนนี้มีราคาสูงเพื่อสอดรับนโยบายลดคาร์บอนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ จึงทำแผนพลังงานชาติ 2023 โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ต้องเพิ่มพลังงานหมุนเวียนสัดส่วน 50% ปี 2573 จะพยายามทำราคาให้เท่าๆ กับที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานพยายามบริหารจัดการราคาพลังงานให้อยู่ในกรอบไม่เป็นภาระ โดยอนาคตนโยบายหาเสียงควรสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือระดับหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนปรับตัวได้ ส่วนตัวมองว่ากลไกค่าเอฟทีทำไว้ดีแล้ว โดยต่างประเทศบริหารราคาพลังงานเสรีและขึ้นลงตามกลไกตลาด ซึ่งไทยนำเข้าทั้งน้ำมันและก๊าซ จึงควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดเช่นเดียวกับหลายประเทศ
นอกจากนี้ ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 เม.ย.2566 มีมติช่วยประชาชนเพิ่มเติม โดยรัฐบาลเสนอแผนช่วยเหลือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อช่วยประชาชนตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.2566 วงเงิน 11,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.มาตรการดูแลผู้ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย เป็นขั้นบันได วงเงิน 7,500 ล้านบาท 2.มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ารายครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนในเดือน พ.ค.วงเงินครัวเรือนละ 150 บาท รวม 1 เดือน วงเงิน 3,600 ล้านบาท รวมประชาชน 23.4 ล้านครัวเรือน