‘สภาพัฒน์’-‘TDRI’ แนะทางรอด แรงงานไทย ใช้สิงคโปร์โมเดล Upskill-Reskill

‘สภาพัฒน์’-‘TDRI’ แนะทางรอด แรงงานไทย ใช้สิงคโปร์โมเดล Upskill-Reskill

“ทีดีอาร์ไอ” มองนโยบายหาเสียงไม่ตอบโจทย์พัฒนาแรงงาน ชี้ควรพัฒนาทักษะเดิม แนะโมเดลสิงคโปร์ แจกคูปอง หนุนอัพสกิล ยกระดับรายได้แรงงาน สศช.ระบุสิงคโปร์ร่วมมือรัฐ-เอกชน วิเคราะห์ทักษะจำเป็นที่ชาติต้องการ 

Key points 

- แรงงานไทยเผชิญปัญหาทั้งเรื่องปริมาณ และคุณภาพ คือมีปริมาณลดลง และผลิตภาพแรงงานลดลง 

- มีหลายพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายแรงงาน แต่มุ่งไปที่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ โดยยังขาดนโยบายเพิ่มทักษะ และคุณภาพแรงงาน 

- TDRI และ สภาพัฒน์ เสนอแนวทางใช้โมเดลพัฒนาแรงงานของสิงคโปร์ในการพัฒนาแรงงาน โดยรัฐให้คูปองในการอัพสกิล และรีสกิลแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของตลาด

แม้ภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงานแต่มีปัญหาจากกลไกการฝึกอบรมของภาครัฐและเอกชนหรือตัวแรงงานซึ่งเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันยกระดับทักษะแรงงานไทยให้ทันความต้องการของโลกในอนาคตภายใต้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า นโยบายด้านแรงงานของพรรคการเมืองที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งปี 2566 ในภาพใหญ่ยังเป็นการมุ่งหาเสียงไปที่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากกว่าการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของแรงงาน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญด้านแรงงานของประเทศไทย และเป็นโจทย์ที่ต่อเนื่องไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาตลอด

ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาด้านแรงงานไทยมีปัญหาใหญ่ทั้งในเรื่องจำนวนและคุณภาพแรงงาน โดยด้านจำนวนแรงงานจะเป็นปัญหาต่อเนื่องระยะยาวเพราะแรงงานของไทยขาดแคลนจากประชากรที่ลดลง ทำให้งานหลายอย่างต้องใช้แรงงานต่างชาติ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการอำนวยความสะดวกให้แรงงานที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งต่างกับหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ที่เอื้อให้ต่างชาติที่มีทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศ หรือทำงานให้กับบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ที่ลงทุนในต่างประเทศซึ่งช่วยให้แรงงานมีทักษะและความรู้ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การเพิ่มทักษะแรงงานควรมีนโยบายที่ทำใน 2 รูปแบบ ในส่วนแรกควรส่งเสริม ทักษะที่แรงงานไทยเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น ทักษะการทำเกษตร รวมถึงอาชีพบริการ เช่น งานบริบาล และพยาบาลผู้สูงอายุ ซึ่งหากยกระดับด้านภาษาหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้เข้าสู่ตลาดแรงงานระหว่างประเทศที่ต้องการแรงงานทักษะแบบนี้ ซึ่งจะส่งเสริมให้แรงงานไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น

‘สภาพัฒน์’-‘TDRI’ แนะทางรอด แรงงานไทย ใช้สิงคโปร์โมเดล Upskill-Reskill

“นโยบายพรรคการเมืองด้านแรงงานไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหาแรงงานคือการเพิ่มผลิตภาพแรงงานซึ่งเป็นความสามารถของแรงงานในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแม้แต่พรรคการเมืองที่เสนอค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่เสนอหลักคิดที่เชื่อมค่าจ้างขั้นต่ำกับผลิตภาพแรงงานโดยค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นต้องมากับทักษะและความสามารถของแรงงานที่เพิ่มขึ้นด้วยถึงจะตอบโจทย์ทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบการ ดังนั้นต้องมีนโยบายที่ผลักดันการเพิ่มทักษะความสามารถแรงงานอย่างจริงจัง”

รวมทั้งนโยบายพรรคการเมืองที่จะสร้างตำแหน่งงานใหม่และพัฒนาแรงงานไทยในท้องถิ่นทั่วประเทศ คือ นโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น โดยจัดสรรภาษีลงไปในท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อช่วยให้ท้องถิ่นสามารถลงทุนด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มการจ้างงานในระดับท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาแรงงานจากระดับท้องถิ่น และเศรษฐกิจฐานราก โดยไม่กระจุกเฉพาะส่วนกลางถือเป็นการกระจายอำนาจทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่จะส่งผลดีต่อการสร้างและพัฒนาแรงงานของประเทศในระยะยาว

แนะใช้โมเดลสิงคโปร์ยกระดับแรงงาน 

ส่วนทักษะที่จำเป็นที่ต้องเพิ่มให้กับแรงงานไทย คือ ทักษะดิจิทัลที่เป็นทักษะใหม่จำเป็นสำหรับแรงงานที่จะเข้าตลาดแรงงานในอนาคต รวมทั้งแรงงานทีต้องปรับทักษะ อัพสกิล ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ซึ่งมีเรื่องของดิจิทัล และ AI มาเป็นองค์ประกอบสำคัญ 

สำหรับประเด็นดังกล่าวภาครัฐควรเข้าไปส่งเสริมโดยอาจใช้โมเดลเดียวกับสิงคโปร์ที่แจกคูปองให้กับแรงงานเพื่อนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการอบรมเพิ่มทักษะ โดยภาครัฐเข้าไปจับมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมให้เอกชน หรือมหาวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาทักษะอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาด

สศช.ชี้ค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นน้อยลง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาแรงงานไทยต้องเพิ่มทักษะใหม่ให้สอดคล้องความต้องตลาดและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี โดย10 ปีข้างหน้าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันและให้ความสำคัญกับการลงทุน R&D เพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเพิ่มความสามารถและทักษะการทำงานและเพิ่มผลิตภาพการผลิต

‘สภาพัฒน์’-‘TDRI’ แนะทางรอด แรงงานไทย ใช้สิงคโปร์โมเดล Upskill-Reskill

“ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำมีความจำเป็นน้อยลงในสังคมไทย เพราะแรงงานในระบบได้ค่าแรงสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ สิ่งที่ต้องส่งเสริม คือ การจ่ายค่าจ้างตามฝีมือและทักษะจริงของแรงงาน ซึ่งระบบที่จะรองรับ คือ การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพที่จะทำให้แรงงานได้รับการรับรองเมื่อมีทักษะที่จำเป็นในอาชีพจะได้รับค่าแรงสอดคล้องกับฝีมือ”

 

ชาติพัฒนาแล้วเน้น“รีสกิล”

ทั้งนี้ สศช.เผยแพร่รายงานเรื่อง “การพัฒนาทักษะแรงงานไทยทันหรือไม่ต่อการเปลี่ยนแปลง” ระบุว่า ขณะนี้มีความท้าทายของทุกภาคส่วนที่จะต้องช่วยกันยกระดับทักษะแรงงานไทยให้ทันความต้องการของโลกในอนาคตภายใต้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

จากรายงาน The Future of Jobs Report 2020 ของ World Economic Forum ระบุว่า ภายในปี 2568 แรงงาน 50% ของแรงงานทั่วโลกต้องปรับทักษะใหม่ (reskill) โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก แรงงานทักษะต่ำและกลุ่มเปราะบาง

สอดคล้องกับที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่าภายในปี 2573 ตำแหน่งงานปัจจุบัน 1,100 ล้านตำแหน่ง จะเปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการยกระดับทักษะให้ตรงความต้องการโลกอนาคต 

รวมถึงไทยที่มีนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจ ฐานนวัตกรรม ผ่านการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งต้องการแรงงานทักษะสูง

สิงคโปร์ร่วมมือรัฐ-เอกชน

นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะแรงงานยังมีประเด็นปัญหาที่สำคัญ คือ การขาดการกำหนดชุดทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยปัจจุบันไทยไม่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มีเพียงการสำรวจหรือศึกษาของหน่วยงาน ซึ่งระบุเพียงภาพรวมความต้องการแรงงาน และไม่ระบุทักษะที่จำเป็นทำให้แรงงานไม่ทราบว่าจะพัฒนาทักษะใด 

ขณะที่บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ มีการหารือร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและอบรม ในการวิเคราะห์และจัดทำชุดทักษะที่จำเป็น ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แรงงานสามารถเตรียมความพร้อมและปรับทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างและทิศทางการพัฒนาประเทศได้การอบรมของภาคเอกชนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ส่วนใหญ่เป็นการอบรมในหลักสูตรพื้นฐาน

นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากการที่หลักสูตรการจัดอบรมของภาครัฐยังขาดความทันสมัยและไม่ครอบคลุมความต้องการของตลาด (Supply-driven) เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ ทำให้การจัดอบรมของภาครัฐเป็นการเน้นเฉพาะบางกลุ่มเป้าหมาย และจัดหลักสูตรไม่ได้ครบถ้วนตามความต้องการเอกชน

อีกทั้ง กระบวนการฝึกอบรมแรงงานของภาครัฐและเอกชนยังขาดความเชื่อมโยงกัน ซึ่งหากภาครัฐและเอกชนมีกระบวนการเชื่อมโยงกันจะช่วยให้แรงงานได้รับการอบรมและยกระดับศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

“การพัฒนาทักษะแรงงานจึงถือเป็นความท้าทายของทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการ ซึ่งคงไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”