“พาณิชย์”ไม่อนุมัติขึ้นราคาสินค้า มั่นใจค่าไฟไม่กระทบเงินเฟ้อ

“พาณิชย์”ไม่อนุมัติขึ้นราคาสินค้า   มั่นใจค่าไฟไม่กระทบเงินเฟ้อ

“พาณิชย์” ยืนยันดูแลราคาสินค้า แม้ต้นทุนค่าไฟเพิ่ม เผยยังไม่อนุมัติขึ้นราคาสินค้าที่ต้องขออนุญาตมั่นใจไม่กระทบเงินเฟ้อ ด้านผู้ผลิตอาหารชี้ต้นทุนรวมสูงขึ้น 2.5-5%

Key points

  • ค่าไฟฟ้าได้ปรับขึ้นจากปี 2564 หน่วยละ 3.60 บาท มาอยู่ที่ปัจจุบันหน่วยละ 4.72 บาท มีผลต่อต้นทุนธุรกิจ
  • กรมการค้าภายใน คาดว่าค่าไฟของภาคธุรกิจงวดปัจจุบันจะช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ
  • ที่ผ่านมามีการขอปรับขึ้นราคาสินค้ามาที่กรมการค้าภายใน แต่ยังไม่พิจารณาให้ปรับขึ้นราคาสินค้า
  • ค่าไฟฟ้ามีน้ำหนัก 4% ในตะกร้าเงินเฟ้อ สนค.จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2564 อยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปี 2565 อยู่ที่ 4.69 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจได้รับผลกระทบมากในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่ค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจปรับขึ้นสูงถึง 5.33 บาทต่อหน่วย 

ถึงแม้ว่าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 จะปรับลงมาลดลงเหลือ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ยังมองว่าเป็นระดับที่สูง ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจต้องมีแผนบริหารต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งการประหยัดพลังงานและการพิจารณาปรับราคาสินค้า

“พาณิชย์”ไม่อนุมัติขึ้นราคาสินค้า   มั่นใจค่าไฟไม่กระทบเงินเฟ้อ

ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การลดค่าเอฟทีลง 7 ส.ต.แบ่งเบาภาระต้นทุนสินค้า เพราะช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่ค่าไฟผู้ประกอบการอยู่ที่ 5.33บาทต่อหน่วย แต่ล่าสุดลดเหลือ 4.70 บาทต่อหน่วย โดยกรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์ต้นทุนสินค้าใกล้ชิด ซึ่งแต่ละสินค้าไม่เท่ากันและแต่ละบริษัทมีผลกระทบไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ต้นทุนราคาสินค้ามีทั้งค่าไฟฟ้า แต่มีต้นทุนอื่นทั้งราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ค่าขนส่ง วัตถุดิบ ค่าแรงค่าบริหารจัดการ ซึ่งแต่ละสินค้าจะใช้เครื่องจักรและพลังงานต่างกัน ขณะที่สินค้าบางตัวค่าขนส่งมากและบางตัวค่าขนส่งน้อย ซึ่งต้องดูรายละเอียดเป็นรายสินค้า 

รวมทั้งค่าไฟฟ้าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของต้นทุนราคาสินค้า โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พิจารณาลดราคาลงแล้วก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟลดลงอีก ดังนั้น ผลกระทบจากค่าไฟฟ้าต่อต้นทุนสินค้า ไม่น่าจะเพิ่มขึ้น

ร.ต.จักรา กล่าวว่า ต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัจจัยต่างๆ ทำให้ผู้ผลิตขอขึ้นราคาสินค้าต่อกรมการค้าภายใน แต่ยังไม่อนุมัติ ยังคงให้ยืนราคาเดิม โดยในช่วงนี้มีไม่มากเมื่อเทียบกับกลางปีที่ผ่านมาที่ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจากภาระต้นทุนปรับลดลงมาก อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการให้ความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้าอยู่แล้ว และมีความตั้งใจที่จะไม่ปรับขึ้นราคา หากต้นทุนไม่เพิ่มขึ้นจนรับไม่ไหว เพื่อกระตุ้นยอดขาย และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน

ภาพรวมราคาสินค้าในปัจจุบันมีทั้งปรับขึ้นและปรับลงตามต้นทุนการผลิต ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้า กรมการค้าภายในก็ติดตามสถานการณ์และดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนและเป็นการไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าเกินสมควร”ร.ต.จักรา กล่าว

“พาณิชย์”ไม่อนุมัติขึ้นราคาสินค้า   มั่นใจค่าไฟไม่กระทบเงินเฟ้อ

สนค.ประเมินค่าไฟฟ้าไม่กระทบเงินเฟ้อ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ไม่ได้แพงขึ้น แต่การใช้ไฟฟ้าบางครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพราะอากาศร้อนจัด โดยการจัดทำอัตราเงินเฟ้อเป็นการเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาในเดือน เม.ย. เงินเฟ้อกลุ่มค่ากระแสไฟฟ้า จึงไม่ได้เพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบค่ากระแสไฟ้ฟ้าในเดือน เม.ย.2566 เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าของเดือน เม.ย.ปีที่ผ่าน พบว่ามีราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีการปรับเพิ่มค่าเอฟที

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ต้นปี 2566 สนค.ได้วิเคราะห์การขึ้นค่าไฟฟ้ามีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยค่าไฟฟ้ามีน้ำหนัก 4% ในตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจมาอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย จึงอาจกระทบทางอ้อมต่ออัตราเงินเฟ้อ ผ่านการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ

ผู้ผลิตอาหารชี้ต้นทุนรวมสูงขึ้น2.5-5.0%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบต้นทุนการผลิตสูงจนกระทบธุรกิจ โดยอุตสาหกรรมอาหารมีต้นทุนค่าไฟสูงขึ้นทำให้ต้องปรับตัวเช่นติดตั้ง Solar Roof รวมถึงมีมาตรการประหยัดไฟเพิ่มเติม เช่น การปิดไฟส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้

รวมทั้งจากการสำรวจผู้ประกอบการบางรายที่ยังไม่ได้มีการติดตั้ง Solar Roof พบว่า กระทบต้นทุนการผลิตจากโครงสร้างต้นทุนเดิมอยู่ที่ 5-10% เพิ่มเป็น 7.5-15% และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอีก 2.5-5.0% ซึ่งบางรายจ่ายค่าไฟเพิ่มกว่า 50% ของค่าไฟฟ้าอัตราเดิม

ทั้งนี้ ผู้ผลิตอาหารยังปรับขึ้นราคาสินค้าไม่ได้ เพราะปีที่ผ่านมาปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนค่าระวางเรือ (Freight) ค่าแรงงาน และค่าวัตถุดิบอีกทั้งลูกค้ามองว่าราคาสินค้าไทยสูงกว่าคู่แข่งจึงสั่งซื้อจากประเทศอื่นแทน เช่น จีน