ทางแก้ปัญหาค่าไฟแพง เจรจารื้อสัญญาซื้อไฟเอกชน

ทางแก้ปัญหาค่าไฟแพง เจรจารื้อสัญญาซื้อไฟเอกชน

"นักวิชาการ-เอกชน” ชี้ รัฐบาลบริหารจัดการผิดพลาดทำ “ค่าไฟแพง” แนะรัฐรื้อสัญญาซื้อขายไฟกับเอกชน ยึดหลัก “รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์” มากกว่ามิติกฎหมายอย่างเดียว เสนอปรับคำนวณราคาก๊าซให้เป็นปัจจุบัน พร้อมปรับแผน PDP สอดรับความต้องการและเทรนด์โลก

Key Points

  • ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเกิดจากความผิดพลาดของภาครัฐในการกำหนด PDP และการทำสัญญาซื้อไฟเอกชน
  • ปัจจุบันมีข้อเสนอให้ภาครัฐเจรจาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเพื่อขอแก้ไขสัญญาที่ผูกมัดการคำนวณค่าไฟฟ้ามากเกินไป
  • ที่ผ่านมา กกพ.ชี้แจงการค่าไฟฟ้าจะปรับค่าก๊าซที่ลดลงไม่ได้เพราะผ่านการรับฟังความเห็นค่าไฟตามกฎหมายแล้ว
  • ‘พรายพล คุ้มทรัพย์’ เสนอว่าการแก้ปัญหาจะมองมิติกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองมิติรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ด้วย

รายการ Deep talk ของกรุงเทพธุรกิจที่เผยแพร่ทางยูทูปและเฟซบุ๊คของกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2566 ได้สนทนาถึงประเด็นค่าไฟฟ้าแพง พร้อมทั้งหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลังจากที่ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทยังอยู่ระดับสูงที่หน่วยละ 4.70 บาท

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาค่าไฟแพงนั้นเป็นอัตราอัตราที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่เพราะอากาศไม่ร้อน และเดือน เม.ย.ค่าไฟแพงขึ้นเพราะอากาศทำให้ใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งสาเหตุค่าไฟแพงมาจาก 4 ปัจจัย คือ

1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ค่าเชื้อเพลิงโลกทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น โดยไทยใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 60% ซึ่งมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) สัดส่วนสูงถึง 20-30% ถือว่าสูงมาก แม้จะมีสัญญานำเข้าระยะยาวแต่ไม่พอที่จะดึงราคาเฉลี่ยทำให้ต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น และรัฐจึงทยอยขึ้นค่าไฟตั้งแต่กลางปี 2565

2.ค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment: AP) ซึ่งเป็นกำลังสำรองเพิ่มขึ้นและแม้ไม่ผลิตไฟส่งเข้าระบบ แต่ผู้ใช้ไฟต้องรับภาระจ่ายค่าลงทุนให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) แต่มีผลกระทบน้อยกว่าค่าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น 

3.แผนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) รีบหาแหล่งพลังงานอื่นเข้าระบบ ซึ่งเป็นการวางแผนที่ผิดพลาดจากการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า โดยก่อนมีโควิดคาดว่าเศรษฐกิจจะโต 3-4% ความต้องการใช้ไฟต้องสูงตามเศรษฐกิจ จึงต้องลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งส่วนที่ลงทุนไปแล้ว รวมถึงบางส่วนให้ใบอนุญาตโรงไฟฟ้าก๊าซและพลังงานหมุนเวียน แต่เมื่อมีโควิดทำให้เศรษฐกิจหดตัว และการใช้ไฟไม่เป็นตามคาดทำให้ที่ลงทุนไปจึงเกินหรือล้นระบบ

“ที่ผ่านมาให้ใบอนุญาตมากและง่ายเกินไป และทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแบบ Take or Pay ที่ผูกมัดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยอีกฝั่งบอกว่าทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้า IPP เกินเพราะรัฐบาลยุคหนึ่ง อีกฝั่งบอกอีกยุคก็เซ็นสัญญาเพิ่ม สุดท้ายเศรษฐกิจโตน้อย แต่เตรียมผลิตไฟฟ้าเพิ่มทั้ง 2 ยุคหลายพันเมกกะวัตต์ ผมพยายามคัดค้านการให้ใบอนุญาตแบบง่ายๆ ไม่มีใครฟัง ซึ่งผู้มีอำนาจทั้งหลายอาจมีเหตุผลพิเศษหรือเปล่า ทำให้ไฟสำรองล้นเกินไป”

4.ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่ไม่เป็นไปตามสัญญาการผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปัจจุบันแก้ไขแล้วและปริมาณจะเพิ่มขึ้น แต่จะเท่าระดับเดิมหรือไม่ต้องรอดู โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.พยายามเต็มที่

ทั้งนี้ ต้องการให้การคำนวนค่าไฟงวดถัดไปพิจารณาให้ชัดว่าราคานำเข้าก๊าซจะสูงขึ้นจริงหรือไม่ และดูปัจจัยอื่นประกอบ เพื่อไม่ให้ค่าไฟแพง ส่วนแผนระยะยาวแผน PDP ต้องลดพึ่งพาก๊าซ และพึ่งพลังงานหมุนเวียนที่ต้นทุนลดลง เพราะเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ถูกลดลงและประสิทธิภาพดีขึ้น

เสนอแก้ไขสัญญาลดค่าไฟ

5.การแก้ไขสัญญา ควรเร่งเคลียร์สัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ก๊าซ ซึ่งพอร์ตของผู้ผลิตรายใหญ่มีทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซและพลังงานหมุนเวียน น่าจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลงและผ่อนคลายได้บ้าง ดังนั้นรัฐจึงควรเจรจาเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่าอยู่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งจึงหวังว่าจบการเลือกตั้งคงมีโอกาสได้เจรจา โดยเฉพาะรือหากับโรงไฟฟ้าเอกชนเพื่อดูปัญหาและแนวทางว่าจะปรับเปลี่ยนสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้หรือไม่ รวมถึงพิจารณาภาระต่างๆ ที่ใครจะรับเพื่อประโยชน์ภายในประเทศที่ต้องแบ่งปันกัน

“การทำสัญญาของภาครัฐกับเอกชน ต้นทุนสูง ความเสี่ยงต่ำ กำไรกินยาวๆ ไม่ใช่ว่าไม่โปรงใส แต่ที่ไม่โปร่งใส คือ วิธีแจกจ่ายสัมปทาน บางรายไม่ต้องแข่งขันประมูลเลย ยังสงสัยว่าการเมืองจะยอมหรือไม่ถ้าต้องแก้สัญญา และพรรคการเมืองใหญ่ไม่พูดถึงเรื่องนี้ แต่ถ้าทำได้จะเป็นการช่วยเหลือประชาชน การเมืองตอนนี้ฝุ่นกำลังครุ หาเสียงเวลาไม่มี เราคงหวังยาก”

ต้องยึดรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์

ทั้งนี้ ปัญหาค่าไฟแพงกระทบทั้งประชาชน ผู้ผลิตสินค้า การท่องเที่ยวและเกษตรกร จึงต้องจับเข้าคุยกันหลายฝ่าย และต้องปรับเปลี่ยนอีกเยอะไม่เฉพาะ PDP รวมถึงการไฟฟ้า 3 แห่ง ภาคเอกชน บ้านเรือนที่จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยต้องปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้า เพิ่มการแข่งขันมากขึ้น และให้คนเป็นผู้ผลิตได้ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ เช่น ไมโครกริดและสมาร์ทกริด

“นายกรัฐมนตรีบอกว่าทีมกฎหมายแก้สัญญาไม่ได้ ในมุมนิติศาสตร์ทำไม่ได้ แต่มุมรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์เป็นไปได้ เพราะประชาชนเดือดร้อนจากสัญญาที่มีส่วนให้ค่าไฟแพง เศรษฐกิจไปไม่ได้ จึงต้องเจรจาหาทางแก้ไขลดค่าไฟ”

สำหรับการแก้ไฟแพงระยะสั้น คือ การคำนวณให้ถูกวิธีเพื่อให้ค่าเอฟทีลดลง และการใช้เงินอุดหนุนค่าไฟ โดยเฉพาะช่วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อตรึงค่าไฟเหมือนตรึงราคาดีเซล แต่ไม่อยากให้ใช้เงินเยอะ

ระยะกลาง นอกจากเจรจาปรับสัญญากับเอกชนทั้งเงื่อนไข Take or Pay อาจพิจารณาเปลี่ยนแผนแอลเอ็นจี ฮับ โดยถ้าใช้ก๊าซน้อยลงก็มาพิจารณาว่ายังจำเป็นหรือไม่ รวมทั้งวางแผนและลงทุนระบบสายส่งหรือสมาร์ทกริด เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่เข้าระบบมากขึ้น

ระยะยาวเพิ่มการแข่งขันในระบบให้มากขึ้น โดยตั้งหน่วยงานดูแลระบบกริดที่เป็นอิสระ พร้อมกำหนดกฎเกณฎ์ให้ค่าไฟเหมาะสมสู่เป้าหมาย Net Zero รวมถึงแผนซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟจากประเทศเพื่อบ้านที่ไม่จำกัดเฉพาะลาว

ส.อ.ท.หนุนเจรจาแก้สัญญา

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขึ้นค่าไฟกระทบผู้ประกอบการมาก ซึ่งภาคธุรกิจถูกปรับค่ไฟ 2 งวดติดต่อกัน สูงขึ้นถึง 30% โดยเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 สูงขึ้น 17% เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 สูงขึ้น 13% เป็น 5.33 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การขึ้นค่าไฟรุนแรงถือเป็นต้นทุนหนักจึงต้องปรับราคาสินค้า โดยไตรมาส 1 ปี 2566 ปรับขึ้น 5-12% แล้วแต่ประเภทของสินค้า

ทั้งนี้ การที่ค่าไฟแพง ถือว่าเป็นกระบวนการที่ผิดพลาด คือ 

1.การวางแผน PDP ที่โตเยอะ จนต้องเพิ่มซัพพลายที่เร็วและง่ายเกินไป 

2.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การนำเข้าก๊าซต้นทุนสูงและก๊าซในอ่าวไทยหายไป ซึ่งจะเห็นว่าใครได้ประโยชน์จากค่าความพร้อมจ่าย จึงควรทบทวนสัญญาโรงไฟฟ้าที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป

“การที่ซัพพลายสูงกว่าดีมานด์มี 2 สาเหตุ ตัวเลขในสัญญาแล้วเกินกว่า 50% แต่ตัวเลขสำรองมีแค่ระดับ 30% เกินขนาดนี้ยังเร่งเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่า 8 พันเมกะวัตต์ เพื่อตอบโจทย์ลดโลกร้อน ถือเป็นการเร่งทำ และยังเร่งซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเพื่อนบ้านอีก 770 เมกะวัตต์ ซึ่งสถานการณ์โอเวอร์ซัพพลายควรขายเพื่อนบ้าน แต่กลับไปซื้อเพิ่มในช่วงปลายเทอมรัฐบาล”

นอกจากนี้ ต้องการเห็นตลาดเสรีเพื่อลดการผูกขาดส่งก๊าซทางท่อหรือสายส่งไฟฟ้า ซึ่งต้องการเห็นลดการผูกขาดเพื่อให้โลจิกส์ติกเสรีขึ้น และจะทำให้การซื้อเชื้อเพลิงเข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ถูกกว่า

จี้ทบทวนราคาน้ำเข้าแอลเอ็นจี 

รวมทั้ง การลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 ทบทวน 2 รอบจากเดิม 4.72 บาท และลดล่าสุดลง 2 สตางค์ เหลือ 4.70 บาท แต่เมื่อเอกชนร้องว่าควรใช้ราคานำเข้าแอลเอ็นจีเฉลี่ยไม่ถึง 13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จะลดได้อีก 25 สตางค์ แต่รัฐทำเพียงยืดหนี้ กฟผ.ที่เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ

ทั้งนี้ การคำนวณค่าไฟงวดที่ 2 ของปีใช้สมมติฐานต้นทุนนำเข้าแอลเอ็นจี 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู อัตราแลกเปลี่ยนที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้รับผิดชอบนำเข้าล็อกราคาก๊าซไว้ตามที่ กฟผ.แจ้งมาที่ กกพ.รับทราบที่ราคา 15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู แต่ราคาเฉลี่ยเดือนเม.ย.2566 อยู่ที่ 12.5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งมีการส่งข้อมูลนี้ให้ กกพ.ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

“การนำเข้าแอลเอ็นจีควรทบทวน และมีเหตุผลอะไรที่ไม่ใช้ราคาล่าสุด แล้วส่วนต่างอยู่ในการคำนวณค่าเอฟที และที่บอกจะคืนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในงวดที่ 3 (ก.ย.-ธ.ค.2566) จะคืนให้ครบ 100% หรือไม่”