IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชีย ปีนี้โต 4.6%
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ระบุ การเติบโตของภูมิภาคเบื้องต้นได้แรงหนุนจากจีนฟื้นตัวและอินเดียฟื้นเร็ว ในช่วงที่ส่วนอื่นๆ ของโลกทำใจรับเศรษฐกิจโตช้ากว่า
Key points:
- IMF คาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกขยายตัว 4.6% ปี 2565 ขยายตัว 3.8%
- จีน-อินเดีย คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
- แรงกดดันเงินเฟ้อในเขตเศรษฐกิจก้าวหน้าของเอเชียน่าจะยืดเยื้อนานกว่าที่เคยประเมินไว้
IMF เผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกประจำเดือน พ.ค. ปีนี้ผลผลิตมวลรวมของภูมิภาคขยายตัว 4.6% สูงขึ้น 0.3% จากที่เคยคาดการณ์ในเดือน ต.ค. และขยายตัว 3.8% ในปี 2565
แนวโน้มที่ IMF ปรับเพิ่มเท่ากับว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดเป็นราว 70% ของเศรษฐกิจโลก
“เอเชียและแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคใหญ่ของโลกที่มีพลวัตมากที่สุดในปีนี้ หลักๆ ได้แรงหนุนจากแนวโน้มอันโดดเด่นของจีนและอินเดีย สองเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ใหญ่สุดในภูมิภาคคาดว่าจะคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ เอเชียแปซิฟิกที่เหลือคิดเป็นอีกหนึ่งในห้า”
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว มาอยู่ที่ 5.2%, 4.5%, 6% และ 4% ตามลำดับ พร้อมกันนั้นได้ลดคาดการณ์เศรษฐกิจอินเดียทั้งปี ขยายตัว 5.9% ในปีนี้ ซึ่งอินเดียกำลังจะเป็นประเทศประชากรมากที่สุดในโลก
กฤษณา ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการ IMF แผนกเอเชียและแปซิฟิก แนะว่า ธนาคารกลางในภูมิภาคจะจับตาเสถียรภาพของราคาต่อไป
แม้ว่าในภาพรวมภูมิภาคนี้มีแนวโน้มสดใส ส่วนใหญ่เป็นผลจากตลาดเกิดใหม่ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะไปได้ดี แต่ IMF ปรับลดคาดการณ์ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ความต้องการภายนอกที่แข็งแกร่งขึ้นจากจีนช่วยให้เขตเศรษฐกิจก้าวหน้าบางแห่งในภูมิภาคเบาใจได้ แต่คาดว่าไม่สามารถต้านทานแรงฉุดรั้งจากปัจจัยในและภายนอกอื่นๆ ที่แรงกว่า
การเติบโตในเอเชียนอกเหนือจากจีนและอินเดีย “จะพ้นจุดต่ำสุดในปีนี้”
IMF ลดคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นปีนี้มาอยู่ที่ 1.3% เพื่อสะท้อน “ความต้องการภายนอกและการลงทุนอ่อนแรงลง และผลจากเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 น่าผิดหวัง”
นอกจากนี้ความต้องการภายในซบเซาในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ผลจากการที่ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยน่าจะ “บั่นทอนแนวโน้มการเติบโต” ในปีนี้มาอยู่ที่ 1.6% และ 1.1% ตามลำดับ
"แรงกดดันเงินเฟ้อในเขตเศรษฐกิจก้าวหน้าของเอเชียน่าจะยืดเยื้อนานกว่าที่เคยประเมินไว้ในรายงานเศรษฐกิจโลก เดือน ต.ค.2565 เมื่อการเติบโตของค่าจ้างล่าสุดชัดเจนมากขึ้นในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
การบริโภคสูงในจีนมีแนวโน้มไหลล้นไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชียแปซิฟิก การเปิดประเทศอีกครั้งหลังยกเลิกมาตรการคุมโควิดเข้มงวดที่สุดจะ “ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนสูงขึ้น ซึ่งจะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว” เกินหน้าตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวอื่น เช่น การลงทุน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะใกล้จากการฟื้นตัวของจีนส่อเค้าแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่าน่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของจีนจะเห็นได้ในภาคบริการมากที่สุด
ส่วนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จีนเผชิญอยู่ตอนนี้ส่อเค้าส่งผลต่อเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเช่นกัน ก่อนหน้านี้ IMF เคยประเมินว่า ความตึงเครียดของโลกจะทำให้การลงทุนในต่างประเทศสะดุด
“ความเสี่ยงที่การค้าโลกแตกตัวมากยิ่งขึ้นกำลังเพิ่มสูง พิจารณาจากข้อพิพาทการค้าสหรัฐ-จีนที่กำลังดำเนินอยู่ (รวมถึงระเบียบใหม่ว่าด้วยการค้าสินค้าไฮเทค) และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นจากสงครามของรัสเซียในยูเครน” รายงานระบุ