'พปชร.' ชู 3 ทางออกแก้ 'ปุ๋ยแพง' ชูนโยบาย 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' อุ้มเกษตรกรไทย
"พปชร." ชูนโยบาย "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ช่วยเกษตรกร 8 ล้านครัวเรือน ให้ยืนบนขาตัวเองได้ ยันทำได้ทันที พร้อมเสนอ 3 ทางออกแก้ราคา "ปุ๋ยแพง"
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวบนเวที THE BIG ISSUE 2023 : ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร หัวข้อ ความท้าทายของการลดปัญหาปุ๋ยแพง จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัญหาปุ๋ยแพงเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ และเป็นปัญหาที่เกิดมายาวนาน แต่ครั้งนี้ถือว่ารุนแรง เพราะเกิดสงครามการเมืองต่างประเทศและมีปัญหาโควิด
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาปุ๋ยแพง คือ
1. ต้องคิดใหม่ว่าเราจะให้ตลาดโลกกำหนดชีวิตเกษตรกรหรือไม่
2. ไม่มีใครปฎิเสธว่าอุตสาหกรรมปุ๋ยและธุรกิจปุ๋ยเป็นธุรกิจ ที่ค่อนข้างเข้าไปจัดการยากในเรื่องนโยบายภาครัฐ เหตุผลคือ การจำหน่ายปุ๋ยในประเทศไทยนั้น เกษตกรมักจะเอาปุ๋ยมาใช้ก่อน ผลิตออกแล้วค่อยนำไปจ่ายค่าปุ๋ย
3. สาเหตุของปุ๋ยแพงคือ กลไกที่จะช่วยเกษตรกรในการแก้ปัญหาในเรื่องปุ๋ยสั่งตัด แม้ที่ผ่านมาพยายามทำกันมาแต่ยังอ่อนแอ เพราะไม่มีกลไกที่แข็งแรงที่จะเข้าไปช่วยเกษตรกรลดต้นทุนปุ๋ยในการที่จะใช้กับภาคการเกษตร
"สิ่งเหล่านี้พรรคฯ เห็นว่าปุ๋ยเป็นเรื่องที่สำคัญ สิ่งที่จะแก้ปัญหาโครงสร้างปุ๋ย เราเสนอให้ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยในประเทศ เพื่อให้เรายืนบนขาตัวเองให้ได้มากที่สุด"
อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ปัญหาปุ๋ยแพงของพรรคฯ นั้น แบ่งเป็น
1. คือ กรณีเหมืองโปรแตส ถือเป็นนวนิยายเรื่องยาว มาถึงปัจจุบัน ถ้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะเข้าไปจัดการผลักดันเรื่องเหมืองโปรแตส ไม่ใช่ปล่อยให้คาราคาซังอย่างนี้ เอกชนผู้ประกอบการ ทำเพียงลำพัง พิสูจน์แล้วว่าว่าแก้ปัญหาได้ยาก หากรัฐเข้าไปช่วยและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้เป็นนโยบายของประเทศ มีปุ๋ยในประเทศเอง
"เห็นด้วยกับเหมืองโปแตช จะช่วยเพิ่มผลผลิตเกษตร เพราะมีถึง 7-8 แสนตัน จะช่วยให้ราคาลดลง 20-30% ถ้าทำดี ก็ส่งออกได้ สร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์สู่เป้าหมายเกษตรกรทั่วโลก ปัญหาไทยเราทำเกษตรไม่เห็นตลาดโลก การเกิดขึ้นคือกลไกเข้าไปช่วย ผ่านศูนย์เกษตรอัจฉริยะ"
2. ท่อแก๊สในประเทศไทย โดยสามารถใช้ท่อแก๊สในแต่ละจุดที่กระจายในภาคต่าง ๆ สามารถผลิตปุ๋ยได้โดยใช้เทคโนโลยี ผลิตปุ๋ยตามแนวท่อแก๊สได้
3. ขณะนี้โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบันมีวัสดุทางการเกษตรมากกมาย อาทิ ทะลายปาล์ม กิ่งไม้ ต้นไม้ต่าง ๆ ที่มีในประเทศก็สามารถนำมาผลิตปุ๋ยได้
ทั้งนี้ หากพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล แม้ว่าสิ่งที่ตนพูดจะต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่พรรคจะทำทันทีคือ การผลักดันนโยบายปุ๋ยคนละครึ่ง ให้เกษตรกร 8 ล้านครัวเรือน เพื่อลดภาระเกษตรกร บนความยากลำบาก ต้องยอมรับการที่รัฐจะทำนโยบายด้านราคา และที่เกษตกรมีปัญหาเพราะจริง ๆ แล้วเมื่อหักต้นทุนหักค่าแรง เกษตรกรเปรียบเทียบอาชีพอื่นจะอยู่ได้ยาก เพราะขาดทุนจากการเป็นเกษตรกร เพราะฉะนั้นปุ๋ยคนละครึ่งจึงเป็นนโยบายระยะสั้น
"สถานการณ์ขณะนี้จะต้องลดภาระเกษตรกร ไม่เช่นนั้นต่อให้ดันราคาผลผลิตการเกษตรขึ้นสูงเท่าใดก็ตาม เกษตรกรก็จะเป็นหนี้มากขึ้น และเราจะแก้ไม่ทันเพราะเขาจะล้มตายมากขึ้น"
นอกจากนี้ การผลักดันในเรื่องของปุ๋ยสั่งตัดนั้น ยอมรับว่าเป็นการพยายามทำมาหลายปี แต่ครั้งนี้มีปัญหาหนักเรื่องราคาปุ๋ยแพง ที่จะทำได้คือการใช้ปุ๋ยสั่งตัด แต่ปุ๋ยสั่งตัดทำไม่ได้ถ้าไม่มีกลไกช่วย ดังนั้น รัฐจึงเอานโยบายครัวเรือนละ 3 หมื่นบาท มาขับเคลื่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน เรื่องน้ำ และเรื่องปุ๋ย โดยกรณีปุ๋ย จะทำให้เกิดการรวมตัวกันในการจัดซื้อปุ๋ยสั่งตัด มีทุนพอที่จะรวบรวม และปุ๋ยสั่งตัดพิสูจน์แล้วว่าลดต้นทุนได้ แต่อีกด้านหนึ่งมีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียดิน จึงต้องเอาเทคโนโลยีมาร่วม จะช่วยเกษตรกรพ้นจากความทุกข์ยากได้