ถอดรหัสราคา“ปุ๋ยเคมี”แพงถึงเวลา ไทยขับเคลื่อนแผนผลิตในประเทศ
ไทยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการเกษตรในสัดส่วนที่สูงมากทั้งจำนวนประชากรและพื้นที่ที่ใช้เพื่อทำการเกษตร แต่ไทยไม่สามารถผลิต“ปุ๋ยเคมี”ได้ ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศเกิดขึ้น ในอีกซีกโลกหนึ่ง ผลกระทบจึงเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยทันที
นายระพีภัทร จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยในการสัมมนา“The Big issue 2023 ปุ๋ยแพงวาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร” จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ ว่า ปัจจุบันไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยเคมีโดยเฉพาะแม่ปุ๋ย คือ ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส (P) และ โปรแตสเซียม(K) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปุ๋ยเหล่านี้มีราคาแพงมาก ตามราคาแก๊ส และยิ่งแพงมากขึ้นเมื่อเกิดภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่ขณะนี้ราคาปรับลดลงแล้ว และมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีก
“จะไม่เกิดภาวะขาดแคลน จากการตรวจสอบตัวเลขนำเข้าและเช็คสต็อกที่มีอยู่ มีเพียงพอกับการเพาะปลูกที่จะมาถึง โดยแต่ละปีไทยมีความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีรวม4. 5 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 95 % เป็นการนำเข้า ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเปิดเสรีจากทุกแห่ง แต่ส่วนใหญ่นำเข้าจาก ตะวันออกกลาง จีน ออสเตรเลีน รัสเซีย แคนาดา อิตาลี มูลค่าประมาณปีละ 5-6หมื่นล้านบาท แต่ช่วงวิกฤติ ปี 2565 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว”
ทั้งนี้ ข้าวใช้ปุ๋ยเคมีมากที่สุด51% ที่เหลือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักๆ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ส่วนไม้ผล เช่น ทุเรียน มีสัดส่วนการใช้ 5 %
เทรนด์ราคาปุ๋ยเคมีลดลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ราคาปุ๋ยจะปรับลดลงแล้ว แต่ที่สำคัญที่สุดคือเกษตรกรต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย ทุกการนำเข้าจากท่าเรือ และจากโรงงาน เร่งต่อทะเบียนผู้ค้าปุ๋ย ให้แล้วเสร็จในวันเดียว และขึ้นทะเบียนผู้ผลิตปุ๋ย ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจคุณภาพ แต่จะเร่งให้เร็วขึ้น ซึ่งแต่ละปีจะมีสูตรปุ๋ยกว่า 3,000สูตร ที่มาขอขึ้นทะเบียน
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังบูรณาการเพื่อตรวจวิเคราะห์ค่าดินเพื่อให้ใช้ปุ๋ยได้ถูกสูตร ถูกเวลา เชื่อมโยงกับภาคเอกชน แนะนำให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ซึ่งเป้าหมายจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ 20 %
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ราคาปุ๋ยที่ลดลง ในขณะนี้เป็นผลมาจาก สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เจรจากับตรุกีเพื่อนุญาตให้ยูเครนส่งออกสินค้าเกษตรและปุ๋ย ผ่านทะเลดำ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้นในระยะต่อไป จึงไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ราคาปุ๋ยได้
“ราคาปุ๋ยแพงนั้นไม่เพียงแต่จะกระทบกับเกษตรกรในประเทศเท่านั้นแต่กระทบกับความมั่นคงทางด้านอาหารของโลกด้วย ทำให้หลายประเทศมีความกังวลเนื่องจากกลุ่มประเทศที่ผูกขาดปุ๋ยในโลกนี้แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ จีนและพันธมิตรผลิต 50ล้านตัน สหรัฐและพันธมิตร 50 ล้านตัน โดยเป็นกลุ่มที่ผลิตแม่ปุ๋ยที่ได้จากการแยกแก๊ส และน้ำมัน ดังนั้น การที่แต่ละปีไทยนำเข้าแม่ปุ๋ย 70% และปุ๋ยสูตร 30 % จึงลำบากที่จะเจรจาต่อรอง”
แนะรัฐหนุนผลิตปุ๋ยใช้เอง
ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยจะผลิตปุ๋ยใช้เองโดยรัฐบาลสนับสนุน เช่นเดียวกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามที่แต่ละปีอุดหนุนปุ๋ยเคมีมากขึ้นทำให้สัดส่วนต้นทุนการผลิตปุ๋ยต่ำเพียง 10 % ของต้นทุนทั้งหมดเทียบกับไทยมีสัดส่วนสูงถึง 28 %
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ช่วงที่ปุ๋ยเคมีราคาสูง กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชน ให้ลดราคาปุ๋ยลงกระสอบละ20-25 บาท จำนวน 4.5 ล้านกระสอบโดยเป็นปุ๋ยกว่า 48 สูตร แต่ต้องยอมรับว่ากระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถคุมราคาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะการนำเข้ามีต้นทุนที่สูงขึ้นจริง
สำหรับปีนี่้ราคาได้ปรับลดลงแล้ว และจากการเช็คสต็อกพบว่ามีปุ๋ยอยู่ถึง1.3 ล้านตัน คาดว่าภาคเอกชนจะทะยอยนำเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนเพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกสำรวจราคาปุ๋ยยูเรียที่เกษตรกรใช้มากที่สุด พบว่าจากราคาปีที่ผ่านมา กระสอบละ 1,600-1,700 บาท ขณะนี้ลดลง เหลือ 800-900 บาาท แต่ยังสูงอยู่จากราคาในภาวะปกติที่กระสอบละ 500 บาท
นายภาสิต ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) (TRC) กล่าวว่า การทำเหมืองโปรแตสเซียม ที่ชัยภูมิ เบื้องต้นได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดลอม แล้ว และปัจจุบันอยู่ระหว่างระดมทุนเพื่อนำแร่โปรแตสมาใช้ หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จะทำให้ได้แร่โปรแตสที่มีราคาถูก และยังสามารถส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย
ปุ๋ยอินทรีย์ทางออกที่ยั่งยืน
นายชุติภพ เหงากุล ที่ปรึกษาด้านเกษตรอินทรีย์ บริษัท ทีพีไอโพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด กล่าวว่า หากบริหารจัดการดินที่ดี ไม่ทำให้ดินเสียสภาพ แหล่งน้ำมีคุณภาพ เพียงพอและมีพันธุ์พืชที่ดี ก็ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากขนาดนี้ ซึ่งปัจจุบันเมื่อผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง สินค้าไม่มีคุณภาพ ก็จะผลักภาระทั้งหมดนี้ไปที่ปุ๋ยเคมีซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง
“ทางแก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยเคมี จะบีบบังคับให้ผู้ผลิตลดราคาลง นั้นเป็นเรื่องยากและเป็นการแก้ที่ปลายทาง ที่ไม่ได้ผล ทางแก้ที่ถูกต้องคือทำอย่างไรจะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด ซึ่งทีพีไอ ได้ตั้งศูนย์วิจัย ขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ และพบว่าปุ๋ยเคมีทำให้ดินเป็นกรด การลดกรดในดินต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น ”
ดังนั้น ทีพีไอจึงมีสูตรปุ๋ยอินทรีย์วัตถุที่จะช่วยแก้ปัญหาดิน และช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้มากถึง 2ใน3 โดยผลิตจากปุ๋ยชีวอินทรีย์ ที่จะช่วยปรับและเสริมด้วยผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ เพื่อให้พืชได้ใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพปุ๋ยเคมีมากขึ้น