อุตสาหกรรมเตือนภัยแล้ง ‘เอลนีโญ’ ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจไทย
ภาคเอกชนมองภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่คาดว่าเริ่มในเดือน ก.ค. นี้ เป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ กระทบกำลังการผลิตหดตัวและผลผลิตเกษตรลดลง ซ้ำเติมราคาอาหารให้ปรับตัวสูงขึ้น
เอลนีโญ (El Nino) เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยการเปลี่ยนสภาพอากาศสู่เอลนีโญจะทำให้เกิดอุณหภูมิที่ร้อนกว่าปกติ และส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก รายงานว่ามีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้นระหว่างเดือนก.ค.ถึงเดือนก.ย. นี้ และยังไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงหรือระยะเวลาของเอลนีโญได้ว่าจะกินระยะเวลานานแค่ไหน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.เห็นว่าจะต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจซ้ำเติมให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หากไม่มีการเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงขาดแคลนน้ำที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร
ทั้งนี้ น้ำถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและจำเป็นอย่างมากสำหรับการทำเกษตร ซึ่งเหตุการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ทำให้ต้องขอความร่วมมือผู้ผลิตทุกภาคส่วนลดการใช้น้ำลงถึง 10% ซึ่งหมายความว่าโรงงานต้องเดินเครื่องน้อยลงเพื่อลดการใช้น้ำ กระทบต่อกำลังการผลิตของประเทศ
รวมทั้ง ภาคการเกษตรโดยเฉพาะนอกเขตชลประทานที่จะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงทำให้ผลผลิตโดยรวมลดลง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ทั้งยังมีส่วนเกินสำหรับการส่งออก แต่ราคาสินค้าเกษตรและอาหารจะอยู่ในระดับสูง
“กกร.มีความกังวลต่อความเสี่ยงภัยแล้งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญ โดยปรากฏการณ์เอลนีโญ่มีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2566 และอาจรุนแรงติดต่อกันมากถึง 3-5 ปี”
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญในครั้งนี้ จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะมีปริมาณลดลงและทำให้ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ซึ่งจะทำให้ผลผลิตในปีนี้ลดลงและราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
“กกร.เตรียมจัดทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีฯ โดยเร็วที่สุด คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า ขอให้พิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้งระยะเร่งด่วน 3 ปี และระยะยาว เพื่อเร่งวางมาตรการรับมือภัยแล้ง และเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำภาคตะวันออกให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี”
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา 3 เรื่อง คือความผันผวนของราคาพลังงานและค่าไฟ ความเสี่ยงภัยแล้ง และสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5
โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดการณ์ว่าปี 2566-2567 จะเข้าสู่ช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงอาจมีฝนน้อยกว่าปกติและฝนทิ้งช่วงมากขึ้น เสี่ยงที่จะเกิดภัยแล้งรุนแรงข้ามปี ซึ่งอาจส่งผลต่อทุกภาคส่วนทั้งประชาชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และผลผลิตการเกษตร ในระยะยาวถึง 2-3 ปี
“ความเสี่ยงเรื่องภัยแล้งในวันนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอยู่นี้ หากภาคการเกษตรมีผลกระทบจากเรื่องภัยแล้ง จะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ”
ทั้งนี้ แม้ว่าเอสซีจีจะเป็นภาคการผลิตที่ใช้น้ำในปริมาณที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการปรับปรุงระบบการใช้น้ำให้มีการใช้น้ำรีไซเคิลมากขึ้น มีมาตรการในการใช้น้ำอย่างระมัดระวัง รวมทั้งเตรียมแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อปริมาณความต้องการ