เจาะนโยบายศก. ‘ประชาธิปัตย์’ ‘เกียรติ’ ตั้งเป้า GDP โต5% ได้ไม่กู้เงินเพิ่ม

เจาะนโยบายศก. ‘ประชาธิปัตย์’  ‘เกียรติ’ ตั้งเป้า GDP โต5% ได้ไม่กู้เงินเพิ่ม

“เกียรติ สิทธีอมร”ชูนโยบายเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ ปั้นจีดีพีโตปีละ 5% โดยไม่ต้องกู้เงิน ไม่ขึ้นภาษี ใช้การเกลี่ยเงินในระบบ 1 ล้านล้าน มากระตุ้นเศรษฐกิจ ดันคลัสเตอร์เขตเศรษฐกิจพิเศษ 55 จังหวัดทั่วประเทศ ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพิ่มงบวิจัยประเทศแตะ 1.8%

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค.2566 เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมีทั้งปัญหาและโอกาสทางเศรษฐกิจรออยู่ พรรคการเมืองต่างๆได้นำเสนอนโนบายเศรษฐกิจสู่ประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะมีนโยบายใดที่เข้ามาช่วยลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ รวมทั้งขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่มีทีมเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจที่น่าสนใจ และมีแนวคิดในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ

นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ประชาธิปัตย์มีเป้าหมายที่จะกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตได้ปีละ 5% อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้เมื่อบอกว่าเป็นแนวทางที่ยั่งยืนคือพรรคเราจะไม่กู้เงินเพิ่มเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ หรือกู้มาเพื่อแจกแบบหว่านแหให้เศรษฐกิจขยายตัวเนื่องจากประเทศมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ แต่จะใช้การเกลี่ยเงินที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท จากแหล่งเงินต่างๆเพื่อมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีแหล่งเงินที่พร้อม และไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นภาษีในทันที แต่จะปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวมากพอ

ส่วนภาษีอื่นๆที่มีการเก็บอยู่ในขณะนี้ก็จะมีการปรับให้เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีมากขึ้น หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล จะเริ่มทำทันทีภายใน 3 เดือน โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงิน 1 ล้านล้านบาท ได้แก่

 

- การจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท ตามพ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน พ.ศ.2562 วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท

- ปลดล็อคกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้ข้าราชการในวงเงิน 1 แสนล้านบาท ปลดล็อคกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานบริษัทในวงเงิน 2 แสนล้านบาท สามารถนำเงินกองทุนทั้งสองรวม 300,000 ล้านบาท ไปซื้อบ้านหรือลดหนี้ที่อยู่อาศัย

- ในส่วนของ SME จะมีการเพิ่มทุน SME และ START UP วงเงิน 3 แสนล้านบาท ให้ธุรกิจมีเงินใหม่เพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเดินหน้าทำเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

สำหรับนโยบายอื่นๆในการสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยของพรรคประชาธิปัตย์ มีหลายนโยบาย ได้แก่

1.เปลี่ยนจากเมืองเกษตร เป็นเมืองอาหาร โดยใช้จุดแข็ง และนโยบายของประเทศไทยในการมีสินค้า วัตถุดิบทางการเกษตรมากมาทำสินค้าเกษตรแปรรูป ซึ่งจะเพิ่มกำไรจากการขายได้อย่างน้อย 30 – 40% ขณะที่สินค้าที่เป็นอาหารส่งออกไม่แปรรูป เช่น ข้าวสาร จะส่งออกได้กำไรเพียง 3% เท่านั้น ทำให้เกษตรกรได้รายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนเมื่อลดการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มการผลิตสินค้าอาหาร การประกันรายได้สินค้าเกษตรในสินค้าที่เป็นพืชเศรษฐกิจ ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ถือว่าเป็นกลไกสุดท้ายถ้ากลไกตลาดไม่สามารถจะทำให้มีรายได้เพียงพอ แต่เป้าหมายคือต้องการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ส่งเสริมให้มีการผลิตในการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อช่วยในการระดมทุนและจับกลุ่มในการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มูลค่าสูง และเพิ่มการเจรจาการค้ากับกลุ่มประเทศต่างๆเพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารของไทยไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น

เจาะนโยบายศก. ‘ประชาธิปัตย์’  ‘เกียรติ’ ตั้งเป้า GDP โต5% ได้ไม่กู้เงินเพิ่ม

2.นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจากการศึกษาสามารถส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆที่มีศักยภาพเป็นคลัสเตอร์เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ถึง 55 จังหวัด โดยจัดกลุ่มตามศักยภาพที่มีอยู่ โดยภาครัฐสนับสนุนมาตรการภาษี และการอำนวความสะดวก ได้แก่

- เขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยอาศัยศักยภาพในการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เติบโตได้ถึงปีละ 10 -20% ซึ่งเติบโตกว่าท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมที่โตได้เพียง 3% ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และวัฒนธรรม สามารถทำควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเมืองรองที่จะช่วยให้เศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆขายตัวมากขึ้น

- เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีจุดเด่นเรื่องสินค้าเกษตร สามารถรวมตัวเป็นคลัสเตอร์และส่งเสริมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะได้ เช่น เขตเศรษฐกิจทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่จังหวัด ยโสธร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ และสุรินทร์ โดยจะผลิตข้าวหอมมะลิออแกนิก ที่ถือเป็นอาหารแห่งอนาคตที่มีตลาดรองรับที่ใหญ่มากและขายได้ราคาสูงกว่าการขายข้าวปกติ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ น้ำตาลและอ้อย ในพื้นที่อุดร หนองบัวลำภู ขอนแก่น และมหาสารคาม เป็นต้น

- เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไปตั้งโรงงานที่บริเวณฯชายแดน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการผลิต และขนส่งสินค้า รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากด้านแรงงานที่จะได้รับด้วย

3.นโยบายการเพิ่มงบประมาณในการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ (R&D) โดยประชาธิปัตย์มีนโยบายจะเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) ให้ได้ปีละ 1.8% หรือคิดเป็นงบประมาณในการทำ R&D ปีละประมาณ 5.4 แสนล้านบาท จากนั้นจะเพิ่มจาก 1.8% ต่อปีเป็น 3% ต่อปี เพื่อให้ใกล้เคียงกับประเทศที่เป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนา โดยการลงทุนในการทำ R&D ของประเทศภาครัฐจะเป็นแกนกลางในการจัดสรรงบประมาณผ่านการอุดหนุนมหาวิทยาลัยและสภาบันต่างๆ เช่นการกำหนด เมืองเขตเศรษฐกิจนวัตรกรรมโดยมีมหาวิทยาลัยผลิตนักวิจัย และผลิตบุคลากร ในสาขาวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งสามารถนำเอาแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษมาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน

เจาะนโยบายศก. ‘ประชาธิปัตย์’  ‘เกียรติ’ ตั้งเป้า GDP โต5% ได้ไม่กู้เงินเพิ่ม

4.นโยบายการส่งเสริม BCG โดยในส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) โดยพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายในการสนับสนุนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว ได้แก่ การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งซัพพายเชน การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ การสนับสนุนโรงไฟฟ้าชีวมวล การสนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมรถไฟที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานจากการขนส่งทางถนนได้

 

เกียรติกล่าวด้วยว่านอกจากนโนบายเรื่องเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ยังมีนโยบายการผลักดัน การปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ การเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ และการพัฒนาระบบรัฐบาลดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยมีนโยบายที่จะยกเลิก One Stop Service เปลี่ยนเป็น No stop service เพื่อให้การให้บริการของภาครัฐเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด  

“ประชาธิปัตย์มีความพร้อมทั้งชุดนโยบาย และตัวบุคคลที่มีประสบการณ์ซึ่งมีความพร้อมที่จะเข้ามาทำงาน โดยจุดแข็งของนโยบายเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์นั้นคือเรากระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม ส่วนการปรับขึ้นภาษีจะปรับขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวมากพอ”เกียรติ กล่าว