ถอดรหัส ‘ประยุทธ์’ ขอ ‘ทำต่อ’ โครงการ – งานอะไรบ้าง? ที่ยังทำไม่เสร็จ
ถอดรหัส "ประยุทธ์" ขอ "ทำต่อ" งาน - โครงการสำคัญที่ยังทำไม่เสร็จ 4 เรื่อง ทัังงานด้านคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน แผนพลังงาน แพคเกจรถEV หลายโครงการรอเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ หากเปลี่ยนขั้วรัฐบาลใหม่ต้องมีการทบทวนโครงการว่าจะสามารถไปต่อได้หรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือน ส.ค. 2557 หรือเป็นนายกรัฐมนตรีมานานกว่า 8 ปี ในช่วงแรกที่เป็น "รัฐบาล คสช." และมีมาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมทั้งมีการบริหารงานอย่างเป็นเอกภาพ สามารถขับเคลื่อนงานโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการออกมาได้สำเร็จ เช่น รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง และสีชมพู
อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่การบริหารราชการในช่วงรัฐบาลผสมตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน โดยใช้กฎหมายปกติในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ทำให้โครงการต่างๆมีความล่าช้าไปจากแผนเดิม
ในการหาเสียงเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ใช้สโลแกน “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” โดยยอมรับว่าในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นแม้จะผลักดันโครงการต่างๆไปมาก แต่ยังมีหลายงานที่ยังไม่เสร็จ ต้องใช้เวลาในการทำงานต่อ จึงได้ตัดสินใจลงเล่นการเมืองเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติในการเลือกตั้งครั้งนี้
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม งานที่ยังไม่เสร็จของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องทำต่อในรัฐบาลหน้าหากยังได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ทบทวนโครงการ ว่าจะเดินหน้าต่อหรือมีการปรับเปลี่ยนโครงการ แบ่งเป็นด้านต่างๆดังนี้
1.โครงการด้านคมนาคม รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการที่รอเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา รวมวงเงินกว่า 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1)รถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 4 สาย ได้แก่
- ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท
- ตลิ่งชัน-ศิริราช 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท
- รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท
- Missing link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท
2)โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 365 กิโลเมตร วงเงิน 300,000 ล้านบาท
3)โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งตามแผนมี 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กิโลเมตร วงเงิน 275,301 ล้านบาท แต่ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าโครงการที่มีความพร้อม และคาดว่าจะเสนอพัฒนาได้ก่อน 3 เส้นทาง ได้แก่
- ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,748 ล้านบาท
- ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท
- ชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท
4)รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ วงเงิน 145,265 ล้านบาท ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด แต่ยังมีข้อพิพาทในศาลปกครอง รวมทั้งที่ผ่านมาเคยมีการยกเลิกการประมูลมาแล้ว รวมแล้วการประมูลมีความล่าช้าเกือบ 3 ปี
5)การโอนสิทธิบริหาร 3 ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยานได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ ซึ่งยังเสนอครม.ไม่ได้เพราะอยู่ระหว่างทำรายละเอียดทางการเงินตามข้อเสนอแนะของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จะเสนอครม.เห็นชอบได้ภายในไตรมาส1 ปี 2566 ซึ่งในส่วนของเงินชดเชยจาก ทอท.เพื่อนำเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน โดยต้องได้มากกว่าที่เคยได้รับเพื่อนำเงินไปดูแลและพัฒนาท่าอากาศยานแห่งอื่น
2.โครงการในพื้นที่อีอีซี
โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยโครงการที่ล่าช้าที่สุดคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนมือง – สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) วงเงินลงทุน 224,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการการแก้ไขสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชน
3.ด้านพลังงาน
- แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าประเทศ (พีดีพี) 2023 (ฉบับปรับปรุงจากปี 2018) โดยแผนนี้จะกำหนดการผลิตไฟฟ้าของประเทศในภาพใหญ่ โดยสถานะของแผนรอเข้า ครม. ในรัฐบาลหน้า
4.นโยบายเกี่ยวกับรถ EV
- "แพคเกจ EV 3.5" มาตรการสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถ EV ในไทย และมาตรการสนับสนุนการลงทุนรถ EV เพิ่มเติม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) แล้ว รอเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา เพื่อให้มาตรการมีผลบังคับใช้