GDPไตรมาส1/66 ขยายตัว 2.7% 'สภาพัฒน์'ยันไร้สัญญาณศก.ถดถอยลุ้นทั้งปีโต 3.7%
'สภาพัฒน์'แถลงGDPไตรมาส1/66 ขยายตัว 2.7% ไร้สัญญาณเศรษฐกิจถดถอยลุ้นทั้งปีเศรษฐกิจโต 2.7% - 3.7% หลังเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีขึ้น แนะรักษาบรรยากาศทางการเมืองให้เอื้อต่อการเดินหน้าเศรษฐกิจ แนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาการส่งออก
วันนี้ (15 พ.ค.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาสที่1/2566 ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวได้ 2.7%
โดยเมื่อปรับฤดูกาลแล้วจีดีพีไทยขยายตัวได้ 1.9% จากไตรมาสที่ผ่านมาทำให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิค และเชื่อมั่นได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไปได้ดี
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาได้ผลดีจากการขยายตัวของการบริโภคเอกชน ขยายตัว 5.4% การขยายตัวของการลงทุนรวมขยายตัว 3.1% ปริมาณการส่งออก ภาคเกษตรของไทยยังขยายตัวได้ 7.2% สาขาที่พักแรมยังขยายตัวได้ 34.3% มูลค่าการนำเข้าสินค้าขยายตัวได้ 1.3% ดุลบัฯชีเดินสะพัดขยายตัวได้ 3.1% อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 1.5% ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส
อย่างไรก็ตามการส่งออกสินค้าของไทยยังมีการติดลบต่อเนื่องโดยในไตรมาสที่หนึ่งการส่งออกของไทยติดลบในแง่ของมูลค่าการส่งออก 4.6% สอดคล้องกับหลายประเทศที่มีการส่งออกสินค้าติดลบจากการค้าโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ภาคอุปโภคของรัฐบาลหดตัว 6.2%
ทั้งนี้ สศช.ได้คงการประมาณเศรษฐกิจในปี 2566 ไว้เท่าเดิมที่ 2.7 - 3.7% เท่ากับการคาดการณ์ในครั้งที่ผ่านมา โดยปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกเป็นขยายตัวได้ 2.7% จากเดิม 2.6%
เลขาธิการ สศช.กล่าวด้วยว่าหลังจากการเลือกตั้งนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย รวมทั้งเร่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งรักษาบรรยากาศหลังการเลือกตั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นต่อเนื่องในการเดินหน้าเศรษฐกิจไทยต่อไป สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ต้องเร่งรัดการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดสินค้าที่ขยายตัวได้ดีและการค้าชายแดน การดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้นโยบายที่รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการส่งออก เพราะเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
"เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหา วันนี้ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว และการบริโภคที่ขยายตัวได้ดี จำเป็นที่ต้องสื่อสารกับรัฐบาลใหม่ว่าตอนนี้การรักษาวินัยการเงินการคลังที่เคร่งครัดเพราะเราขาดดุลงบประมาณมานาน หากยังขาดดุลต่อเนื่องในระยะเวลายาวนานจะกระทบกับเรตติ้งของประเทศได้"นายดนุชา กล่าว