ความท้าทายเศรษฐกิจไทยในปีเลือกตั้ง | บัณฑิต นิจถาวร
ผ่านมาสี่เดือน คำถามที่ผมถูกถามบ่อยคือเศรษฐกิจปีนี้จะเป็นอย่างไร เพราะปีนี้เป็นปีเลือกตั้งที่ความไม่แน่นอนจะมีมาก ซึ่งผมเห็นด้วย
นอกจากนี้เศรษฐกิจปีนี้ก็มีความท้าทายมาก ทั้งจากปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจเราเองที่ทําให้กําลังซื้อในประเทศอ่อนแอ เป็นผลจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ตํ่าต่อเนื่องและหนี้ภาคครัวเรือนที่สูง เศรษฐกิจโลกปีนี้ก็ผันผวนมากและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ท้ายสุดคือ ความไม่แน่นอนในประเทศเราเองหลังการเลือกตั้ง โยงกับการจัดตั้งรัฐบาล และสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะทำในแง่นโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบการจัดสรรทรัพยากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นี่คือ ประเด็นที่จะเขียนวันนี้ เศรษฐกิจปีนี้เป็นอย่างไร คําตอบเบื้องต้นดูได้จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจช่วง 4 เดือนแรก
ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลง ชี้ว่าเศรษฐกิจขยายต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่โมเมนตัมการขยายตัวยังเบา ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยว จํานวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 6.5 ล้านคนในไตรมาสแรก
และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวได้ช่วยพยุงการบริโภคในประเทศโดยรวมให้ขยายตัว โดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านบริการ ส่วนการส่งออกลดลงเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนสะท้อนผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ
การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ พิจารณาจากการขาดดุลเงินสดของภาครัฐกว่า 2.3 แสนล้านบาทในช่วงสามเดือนแรกปีนี้ ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนโมเมนตัมยังอ่อนแอ เห็นได้จากตัวเลขสินเชื่อทั้งระบบที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 ช่วงสามเดือนแรก
สำหรับผลที่การเลือกตั้งจะมีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเลือกตั้งที่หลายคนพูดถึง ผลอันนี้ถ้ามี จะปรากฏในเชิงตัวเลขช่วงครึ่งแรกของไตรมาสสองในรูปการบริโภคที่คึกคักขึ้นชั่วคราว
สรุปคือ เศรษฐกิจช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ยังไม่มีอะไรเด่น เป็นภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบนฐานที่แคบคือ ขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวและการกระตุ้นของภาครัฐเป็นหลัก โมเมนตัมการฟื้นตัวถูกจํากัดไม่ให้พุ่งทะยานเพราะอำนาจซื้อของคนส่วนใหญ่ของประเทศอ่อนแอ ไม่ใช้จ่าย
ขณะที่ภาคธุรกิจไม่ลงทุนที่จะสร้างโอกาสให้เกิดการจ้างงานและการสร้างรายได้ ที่ดีในแง่ความเป็นอยู่ของประชาชนคือ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่องช่วงสี่เดือนแรก เพราะการใช้จ่ายไม่ขยายตัวมากและภาครัฐเข้าควบคุมราคา เช่น พลังงาน ผ่านการอุดหนุนซึ่งจะมีต้นทุนอยู่ที่ฐานะการคลังของประเทศ
มองไปข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสำคัญสองเรื่องที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจช่วง 8 เดือนข้างหน้า
เรื่องแรกคือ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งปีหลัง เรื่องนี้แม้ความเห็นนักวิเคราะห์ขณะนี้ไม่ไปทางเดียวกัน คือประมาณครั้งหนึ่งหรือร้อยละ 50 มองว่าจะเกิดภาวะถดถอยในเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง และอีกร้อยละ50 มองว่าจะไม่เกิด แต่เราก็ไม่ควรประมาท
เพราะเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จากผลของอัตราดอกเบี้ยที่ได้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอ สร้างความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเสถียรภาพในระบบธนาคารพาณิชย์
และสร้างภาระมากขึ้นในการชำระหนี้ให้กับบริษัทธุรกิจและประเทศที่มีหนี้มาก รวมถึงการชำระหนี้ภาครัฐของประเทศอุตสาหกรรมหลัก เช่น สหรัฐและญี่ปุ่น
สิ่งเหล่านี้คือ ความเปราะบางในเศรษฐกิจโลกที่ได้เพิ่มมากขึ้น และสามารถเป็นชนวนให้วิกฤติเศรษฐกิจปะทุขึ้นได้ ถ้าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความมีเสถียรภาพในระบบการเงิน หรือต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศที่มีหนี้มากโดยเฉพาะประเทศใหญ่เปลี่ยนไป
และถ้าวิกฤติเกิดขึ้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นแน่นอนและจะกระทบเศรษฐกิจเรามากผ่านการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ชะลอ และเศรษฐกิจเราก็ไม่มีความเข้มแข็งของกําลังซื้อภายในประเทศที่จะเป็นตัวรับหรือเป็นกันชนให้
ที่สำคัญ ถ้าวิกฤติเกิดขึ้น การแก้ปัญหาจะยากมากเพราะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน จะทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้วิกฤติมีข้อจำกัด
ความไม่แน่นอนที่สองคือ การจัดตั้งรัฐบาลในประเทศเราหลังการเลือกตั้ง ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนและเป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยหรือไม่ เรื่องนี้นักลงทุนต่างประเทศให้ความสำคัญ และสิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นคือการเลือกตั้งที่สะอาดยุติธรรม
และประเทศได้รัฐบาลที่ดี มีเสถียรภาพ ที่ประชาชนให้การยอมรับเข้ามาบริหาร นี่คือ ความหวัง และถ้าผิดไปจากนี้หรือมีความไม่แน่นอนมากก็อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน นำไปสู่การชะลอการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ รอดูสถานการณ์ไปก่อน หรือย้ายการลงทุนไปที่อื่นซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจเรามาก
นี่คือ สองความไม่แน่นอนที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง ชัดเจนว่าความท้าทายต่อเศรษฐกิจปีนี้มีมาก และความไม่แน่นอนช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจด้านลบมากกว่าด้านบวก