6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วผมก็คาดหวังว่าจะได้มีการจัดตั้งรัฐบาล (ผสม) ได้โดยเร็ว เพราะมีอย่างน้อย 6 เรื่องด้านเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องมีตำตอบ

 

ผมจะขอกล่าวถึงในวันนี้และในสัปดาห์หน้าและสัปดาห์ต่อไปรวมกันทั้งสิ้น 5 ตอน

1.เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวลงอย่างมากในปลายปีนี้

ประการแรกต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศอย่างมาก กล่าวคือ การส่งออกสินค้าและบริการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของจีดีพี (เมื่อ 10 ปีก่อนสูงถึง 70% ของจีดีพีเทียบกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของจีดีพีโลก)

ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากถึง 5% (จาก 0% ถึง 5%) ในระยะเวลาเพียง 14 เดือนที่ผ่านมาเพื่อปราบเงินเฟ้อ โดยคาดหวังว่าจะสามารถกดเงินเฟ้อให้ลดลงใกล้ 2-3% ภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ธนาคารกลางของสหภาพยุโรปและอังกฤษ รวมกับธนาคารกลางอีกหลายประเทศก็ได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ในทำนองเดียวกัน เพื่อลดอัตราเงินที่สูงเกินเป้าหมายเช่นกัน

ประเด็นสำคัญคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง นานนับปีดังกล่าว ต้องชะลอเศรษฐกิจ (และกำลังซื้อ) ลงตามไปด้วยไม่มากก็น้อย และมีความเสี่ยงว่า อาจนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอัตราเงินเฟ้อไม่ยอมลดลงได้โดยง่าย

กล่าวคือ อาจติดค้างอยู่ที่ 3-4% เมื่อเทียบกับเป้าหมายของนโยบายที่กำหนดให้เงินเฟ้อสูงไม่เกิน 2% ต่อปี สงครามที่กำลังจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นที่ยูเครน และการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐกับจีนที่บั่นทอนโลกาภิวัตน์ (globalization) และห่วงโซ่อุปทาน (global supply chain) ตลอดจนภาวะ ELNino ก็น่าจะมีส่วนทำให้ระดับเงินเฟ้อติดอยู่ที่ระดับสูงอย่างยืดเยื้อได้

6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การที่ดอกเบี้ยนโยบาย (ดอกเบี้ยระยะสั้น) อยู่ที่ระดับสูงเป็นเวลานานนั้น มักจะเป็นภัยอันตรายกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อดอกเบี้ยระยะสั้นสูงกว่าดอกเบี้ยระยะยาว (inverted yield curve) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่สหรัฐมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022

สำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.92%) เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.44%)

หมายความว่า ในอดีต (จากปลายทศวรรษ 80) พบว่า เมื่อเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐจะต้องเข้าสู่สภาวะถดถอยภายใน 12-18 เดือนให้หลัง โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15 เดือน เมื่อ inverted yield curve เกิดขึ้นเดือนกรกฎาคม 2022 ก็อาจคาดการณ์ได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย ประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

ประเทศไทยนั้นคาดการณ์และคาดหวังกันว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะ การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ (ซึ่งในด้านหนึ่งก็คงต้องรอการตั้งรัฐบาลและการผ่านงบประมาณปี 2024) และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากประเทศจีน

(ซึ่งดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่ได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วดังที่คาดการณ์ แต่กำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป) นอกจากนั้น เศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปก็จะต้องไม่เข้าสู่ภาวะตกต่ำ เพราะจะทำให้ภาคส่งออกของไทยฟื้นตัวไม่ได้

สภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น น่าเป็นห่วงในอีกมิติหนึ่งเพราะ inverted yield curve กำลังสร้างปัญหาให้กับภาคธนาคาร (ธนาคารต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากสูงมาก เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยรายรับจากเงินกู้และการถือพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว)

ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปก็ไม่แข็งแรงมากนัก และต้องเผชิญกับภาวะสงครามยืดเยื้อที่ยูเครน รัฐบาลทั้งสองรวมทั้งรัฐบาลอังกฤษและญี่ปุ่นมีปัญหาร่วมกันคือ หนี้สาธารณะสูงและการขาดดุลงบประมาณ ทำให้จะไม่สามารถใช้นโยบายการคลัง มาเติมเต็มเศรษฐกิจได้

ประเด็นดังกล่าว ทำให้การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและแข็งแรงของเศรษฐกิจไทยนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติตามวัฏจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

6 เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยรอคำตอบ (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

แต่จะต้องมาจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนว่า จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหากจำเป็น และการปรับโครงสร้างของประเทศ ในลักษณะที่ทำให้มั่นใจว่าได้แก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมาในอดีต

ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีนโยบายและมาตรการที่จะส่งเสริมให้คนไทยและธุรกิจไทย สามารถฉกฉวยโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างรายได้และสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มจีดีพีของไทย

ประเด็นที่จะขอเขียนถึงในตอนต่อๆ ไป ที่ผมคิดว่าจะตอบโจทย์ข้างต้นคือ การมีนโยบายที่ถูกต้องเพื่อพัฒนาภาคเกษตร ปฏิรูปการศึกษา ปรับเปลี่ยนภาคพลังงาน ปรับปรุงระบบสาธารณสุขและการขับเคลื่อนการลงทุนและการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงที่กำลังซื้อของเศรษฐกิจโลกอาจแผ่วลงไปในปลายปีนี้และต้นปีหน้าเป็นเรื่องของอุปสงค์ (demand) ที่ลดลง ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจาการส่งออกสินค้าและบริการต่ำกว่าความคาดหมาย ซึ่งอาจทำให้ต้องมีมาตรการกระตุ้นหรือสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะสั้น

แต่อีก 5 เรื่องหลังนั้น สำคัญกว่า ในเชิงของการนำมาซึ่ง ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และเป็นเรื่องของอุปทาน (supply) ที่แก้ไขได้ยากกว่ามาก แต่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน จนทำให้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่เร่งด่วนอย่างมากครับ.

 

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร