การกระตุ้นเศรษฐกิจ | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การกระตุ้นเศรษฐกิจ | ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า เหมาะสมหรือคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด ผมคิดว่า ควรกลับมาพลิกตำราเศรษฐศาสตร์ดูว่า พอจะมีคำตอบในเรื่องนี้ได้เพียงใด

ตำราเศรษฐศาสตร์สมัยก่อนที่ John Maynard Keynes จะเขียนหนังสือ The General Theory of Employment Interest and Money ในปี 1936 นั้น พอสรุปได้ว่า

ไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะกลไกตลาด คือการปรับตัวของราคา จะปรับให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะสมดุล (อุปสงค์เท่ากับอุปทาน) ได้ในที่สุด

เวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ และขายสินค้าไม่ได้นั้น หากยอมให้ราคาสินค้าปรับลดลง ก็จะทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น และสินค้าที่เหลือสามารถขายได้

ในทำเดียวกัน หากคนงานตกงาน ก็ต้องยอมลดเงินเดือน เพื่อให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และปัญหาการว่างงานก็จะหมดลงไปในที่สุด ตราบใดที่ภาครัฐปล่อยให้กลไกตลาดทำงานได้ตามปกติ

สมัยก่อน ตำรา General Theory ของ Keynes นั้นวิชาเศรษฐศาสตร์ เกือบจะไม่มีตำราว่าด้วยเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics)

นอกจากนั้น ก็ยังมีทฤษฎีที่เรียกกันว่า Say’s Law ที่สรุปว่า supply creates its own demand แปลว่า เมื่อมีการผลิตสินค้าหรือบริการออกมา ก็จะต้องมีคนที่มีรายได้เพียงพอที่จะมาซื้อสินค้าและบริการที่ผลิตออกมาอีกด้วย

ทั้งนี้ในภาพรวมนั้น มนุษย์จะมีความต้องการที่ไม่มีขอบเขต แต่ทรัพยากรมีจำกัด ดังนั้นวิชาเศรษฐศาสตร์ จึงมุ่งที่จะจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชนให้ได้มากที่สุด

แต่ Keynes ชี้ให้เห็นว่าในระยะสั้นนั้น ในบางสถานการณ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจ อาจขาดความมั่นใจอย่างมาก ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย ผู้ผลิตไม่กล้าผลิตหรือจ้างงาน

ดังนั้น รัฐบาลสามารถเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ และนำกลับมาซึ่งความมั่นใจ ทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัว แทนการปล่อยให้เศรษฐกิจ อยู่ในสภาวะตกต่ำเป็นเวลายาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบและทำความเสียหายที่สามารถลดทอนได้โดยการเข้ามาแทรกแซงอย่างทันท่วงที

ต้องยอมรับว่า ทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาค ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของรัฐบาล ในการเข้ามารักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติมอุปสงค์ (effective demand) ให้กับระบบเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมักจะทำให้รัฐบาลมี “ผลงาน” และเป็นที่นิยมของประชาชน

แต่ก็จะเห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์มักจะออกมาคัดค้าน ไม่ให้ทำการกระตุ้นมากเกินไปเพราะสามารถทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ทั้งนี้เพราะ การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐบาลนั้น หากจะให้ได้ผลมากที่สุดจริงๆ ก็จะต้องขาดดุลงบประมาณ ซึ่งเป็นการนำเอารายได้ในอนาคตของประชาชนมาใช้จ่ายในวันนี้ หมายความว่า เมื่อรัฐบาลขาดดุลงบประมาณในวันนี้ ก็จะต้องเก็บภาษีจากประชาชนในวันหน้า หากจะไม่เพิ่มการขาดดุลงบประมาณ

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็จะระบุอย่างชัดเจนว่าตัวคูณ (multiplier) ที่กล่าวถึงกันว่าเท่ากับ 3,4,5 หรือ 6 นั้นจะลดลงเหลือเพียง 1 เท่านั้น (ขอให้ท่านผู้อ่านลอง google search “balanced budget multiplier” ก็จะพบตัวคูณเท่ากับ 1 เสมอ)

โดยทั่วไปนั้น ตัวคูณ (หรือรายได้จะเพิ่มขึ้นกี่เท่าตัวจากการกระตุ้นของรัฐบาล) ที่นักเศรษฐศาสตร์ประเมินจากความเป็นจริงนั้น มักจะไม่เกิน 2 (และอาจต่ำกว่า 1 ก็เป็นได้)

ซึ่งเราอาจเห็นการอ้างอิงถึง marginal propensity to consume (MPC) คือการบริโภคที่เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ เช่น MPC = 0.8 แปลว่า รายได้เพิ่มขึ้น100 บาทจะทำให้บริโภคเพิ่มขึ้น 80 บาท ซึ่งสามารถคำนวณ ตัวคูณออกมาได้ว่า เท่ากับ 1/1-0.8 หรือ 1/0.2 = 5

แต่สำหรับเศรษฐกิจที่เปิด เช่นของไทยนั้น จะมีการนำเข้าเป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับจีดีพีและในสภาวะดังกล่าว ตัวคูณจะลดลง หากคนไทย เอาเงินไปซื้อ iPhone รายได้ 70-80% ก็จะถูกส่งไปเพิ่มจีดีพีในต่างประเทศ

เงินไม่ได้มาหมุนอยู่ในประเทศไทย แม้ข้าวสาร ที่ผลิตในประเทศไทย ก็ยังต้องใช้ปุ๋ยที่นำเข้าจากต่างประเทศ และขนส่งโดยรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น

หาก marginal propensity to import เท่ากับ 0.3 ตัวคูณคือ 1/1-0.8+0.3 หรือ 1/0.5 แปลว่าตัวคูณจะเท่ากับ 2 เป็นต้น

อีกด้านหนึ่งของทฤษฎีที่สืบเนื่องมาจากทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคของ Keynes คือทฤษฎีว่าด้วย investment accelerator ซึ่งระบุว่า การลงทุนเป็นตัวแปรที่สำคัญ ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ

เช่น หากนักธุรกิจมองว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 100 บาทต่อปี (จากปัจจุบัน 1,000 บาทต่อปี) อย่างต่อเนื่อง  ก็จะทำให้ นักธุรกิจเกิดความมั่นใจว่า จะต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรเพิ่ม เพื่อขยายการผลิต

สมมุติว่า เครื่องจักรมีอายุใช้งาน 15 ปี ราคา 1,000 บาท (ผลิตได้ 100 บาทต่อปีไปอีก 15 ปี ทำให้มีรายได้เพิ่ม 15,000 บาท) ก็จะเห็นได้ว่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นเพียง 100 บาทต่อปี หากทำให้เกิดความมั่นใจ ก็จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมูลค่ามากขึ้นถึง 10 เท่าของยอดขายที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะต้องให้ multiplier และ accelerator ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปด้วยกัน การกระตุ้นการลงทุน จะเพิ่มอุปสงค์และการจ้างงานในระยะสั้น และเพิ่มอุปทานในระยะยาว

ในสภาวะที่ประเทศไทยและหลายประเทศ เผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสะท้อนการขาดแคลนอุปทาน (supply) มากกว่าการขาดแคลนอุปสงค์ (demand)

นโยบายควรให้น้ำหนักกับการเพิ่มการลงทุน และพัฒนาปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะที่ตรงกับความต้องการ ให้กับแรงงานไทย

การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายการคลังนั้น เมื่อดำเนินการในสภาวะที่นโยบายการเงินพยายามปราบเงินเฟ้อ คือกำลังปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้สภาพคล่องตึงตัวมากขึ้น มีความเสี่ยงที่ภาคเอกชนจะถูกแรงกระตุ้นของภาครัฐเบียดบัง (crowd out) สภาพคล่อง

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด จึงเป็นประเด็นสำคัญเช่นกันครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร