‘ฟินแลนด์’ เดินหน้าใช้ ‘พลังงานลม’ แทนถ่านหิน มุ่งสู่ ‘พลังงานสีเขียว’

พลังงานลมในฟินแลนด์เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าตั้งแต่ปี 2020 คิดเป็น 25% ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ หลังจากปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในฟินแลนด์
KEY
POINTS
- ฟินแลนด์ยุติการใช้โรงไฟฟ้
1 เมษายน 2024 บริษัทสาธารณูปโภคด้านพลังงาน Helen ได้ยุติการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินซัลมิซารี (Salmisaari) ในเฮลซิงกิอย่างเป็นทางการ ทำให้ในปัจจุบัน “ถ่านหิน” เป็นแหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของฟินแลนด์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยมลพิษและเพิ่มความเป็นอิสระด้านพลังงานแล้ว บริษัทยังระบุว่าการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินยังช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคได้อีกด้วย
โอลลี่ เซิร์กก้า ซีอีโอของ Helen กล่าวว่า “เราสามารถดำเนินการได้อย่างมีกำไรมากขึ้นด้วยราคาที่ถูกกว่าสำหรับลูกค้า ความสำเร็จของเราเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ยอดเยี่ยมว่าในกรณีที่ดีที่สุด การเปลี่ยนผ่านที่สะอาด ประสิทธิภาพด้านต้นทุน และความมั่นคงด้านอุปทานของฟินแลนด์สามารถดำเนินไปควบคู่กันได้”
นับจากนี้ Helen จะผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลม พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลง โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2024 Helen ประกาศลดราคาพลังงานให้แก่ลูกค้าไปแล้วสองครั้ง คาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยรวมของระบบทำความร้อนในเขตพื้นที่สำหรับปี 2025 จะลดลงโดยเฉลี่ย 5.8% เมื่อเทียบกับปี 2024
ตั้งแต่ปี 2020 “พลังงานลม” เข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคพลังงานของฟินแลนด์ กำลังการผลิตพลังงานลมเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า จนกลายเป็น 25% ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ ขณะเดียวกันการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลง 73% จาก 2.44 เทระวัตต์ชั่วโมงเหลือ 0.67 เทระวัตต์ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของพลังงานทั้งหมด
เครดิตภาพ: REUTERS
ในปี 2024 ฟินแลนด์มีโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานถ่านหินเปิดใช้งานอยู่ 3 แห่ง โรงหนึ่งคือโรงไฟฟ้าถ่านหินซัลมิซารี ส่วนอีก 2 โรงเป็นโรงไฟฟ้าแบบผสมผสาน คือ วาสกีลูโอโต 2 ( Vaskiluoto 2) ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพียงประมาณ 30%
ขณะที่มาร์ตินลาคโซ 2 (Martinlaakso 2) ใช้ถ่านหินและชีวมวลร่วมกัน และมีแผนจะยกเลิกใช้ถ่านหินในปี 2026 ซึ่งทั้งโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งผลิตพลังงานรวมกันได้เพียง 0.8% ของประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโรงไฟฟ้าเมริ-โปริ (Meri-Pori) ถูกใช้เป็นโรงไฟฟ้าสำรอง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงจนถึงสิ้นปี 2026
ฟินแลนด์ร่วมใจงดใช้ถ่านหิน
รัฐมนตรีกระทรวงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของฟินแลนด์ ซารี มุลตาลา แสดงความยินดีกับ Helen และบริษัทพลังงานทั้งหมดในประเทศสำหรับความมุ่งมั่นในการยกเลิกใช้ถ่านหิน
“ในปี 2019 รัฐสภามีมติเห็นชอบกฎหมายห้ามใช้ถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานภายใน 10 ปีอย่างเป็นเอกฉันท์ ในเวลานั้น เป้าหมายดูเหมือนจะท้าทาย แต่ตอนนี้ที่ทำได้เร็วกว่ากำหนด การผ่านกฎหมายนี้จึงดูเป็นการมองการณ์ไกลมาก” มุลตาลา กล่าว
เพื่อให้เป็นไปตามเป้า ฟินแลนด์ได้ออกนโยบายและแผนงานสนับสนุน รวมถึงการระดมทุนมูลค่า 22.8 ล้านยูโรในปี 2021 ที่มุ่งเป้าไปที่เทคโนโลยีและการลงทุนด้านพลังงานที่สร้างสรรค์
มุลตาลาระบุว่า พลังงานลมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการเติบโตทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์ ตามรายงานล่าสุดของสมาพันธ์อุตสาหกรรมฟินแลนด์ โดยคิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านยูโร หรือคิดเป็น 44% ของอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในประเทศในอนาคตอันใกล้นี้
ก่อนหน้านี้ ฟินแลนด์ต้องพึ่งพาถ่านหินที่นำเข้าจากรัสเซียเป็นหลัก ดังนั้นการเลิกใช้ถ่านหินจึงทำให้ฟินแลนด์เป็นอิสระด้านพลังงานมากขึ้น และช่วยเพิ่มความมั่นคงของชาติด้วย ขณะเดียวกันก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของฟินแลนด์ได้ 5%
ซิริลล์ คอร์เมียร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ของ Beyond Fossil Fuels ภาคการผลิตไฟฟ้าของยุโรปที่ใช้พลังงานหมุนเวียนกล่าวว่า ฟินแลนด์ได้แสดงให้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนสามารถเกิดขึ้นได้จริง หากภาคการเมืองมีความชัดเจน และมีการลงทุนอย่างรวดเร็ว
“พลังงานลมเพียงอย่างเดียวก็ช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ถ่านหินและพลังงานฟอสซิลได้มากเพียงพอแล้ว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าพลังงานหมุนเวียนสามารถขยายขนาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนโยบายของรัฐบาลสร้างเงื่อนไขที่เหมาะสม” คอร์เมียร์กล่าว
นอกจากนี้ การรณรงค์ของกลุ่มภาคประชาสังคมมีบทบาทสำคัญในการทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินซัลมิซารีปิดตัวลง หนึ่งในนั้นคือ Coal-Free Finland กลุ่มรณรงค์เรียกร้องให้ยุติการใช้พลังงานถ่านหินและเลิกใช้พลังงานถ่านหินมาโดยตลอด แต่กลุ่มผู้รณรงค์กล่าวว่าฟินแลนด์ยังสามารถทำได้มากกว่านี้ โดยชี้ให้เห็นถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอลคิลูโต 3 (Olkiluoto 3) ที่คืบหน้าล่าช้าไปมาก และต้องใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอย่างต่อเนื่อง
“ปัจจุบันฟินแลนด์กำลังก้าวไปสู่ระบบพลังงานที่ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพและปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้สูงสุดและรวดเร็ว” คอร์เมียร์กล่าว
ในปี 2017 สหราชอาณาจักรและแคนาดาได้จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรขับเคลื่อนการยุติใช้พลังงานถ่านหิน หรือ PPCA ซึ่งฟินแลนด์เป็นสมาชิกของ PPCA มาตั้งแต่ก่อตั้ง และปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 180 ประเทศทั่วโลก
“กรณีของฟินแลนด์ยืนยันว่าการเร่งเปลี่ยนจากถ่านหินไปเป็นพลังงานสะอาด จะยิ่งสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศ ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังพิสูจน์ด้วยว่าการเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินเป็นพลังงานสะอาดสามารถเกิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คิดได้มาก ด้วยความมุ่งมั่นที่กล้าหาญและการวางแผนเชิงรุกของรัฐบาล” จูเลีย สโครปสกา หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ PPCA กล่าว