สหวิริยา จับมือ รฟท. เปิดทดลองขบวนรถพิเศษ ขนเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 46 ตัน

สหวิริยา จับมือ รฟท. เปิดทดลองขบวนรถพิเศษ ขนเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน 46 ตัน

เอสเอสไอ-รฟท.เปิดทดลองเดินขบวนรถพิเศษขนส่ง “เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน” 46 ตัน จากสถานีนาผักขวง ประจวบคีรีขันธ์ ไปยัง ที่หยุดรถศรีสำราญ สุพรรณบุรี หวังช่วยลดปัญหาจราจรพร้อมลดต้นทุนขนส่ง

นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เปิดเผยว่า วันนี้ (15 พ.ค.) บริษัทฯ ร่วมกับนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และนายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมเป็นประธานพิธีเปิดเดินขบวนรถพิเศษสินค้าทดลองขนส่งผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) 

โดยพ่วงรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (บทต.) พิกัดบรรทุก 46 ตัน จำนวน 3 คัน จากสถานีนาผักขวง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังที่หยุดรถศรีสำราญ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ตระหนักถึงโอกาสและประโยชน์ของการขนส่งสินค้าทางราง จึงได้ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ริเริ่มโครงการขนส่งสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนทางรางขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สรุป 3 ประการ ได้แก่

1.ตอบสนองนโยบายของภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนเพิ่มปริมาณ และสัดส่วนของการขนส่งสินค้าเหล็กทางรางให้มากขึ้น        

2.บรรเทาปัญหาการจราจรทางถนน ลดมลภาวะทางอากาศอันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน และสิ่งแวดล้อมได้

3.การขนส่งสินค้าทางรางจะเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากทางถนนและทางเรือ

"การทดลองเดินขบวนขนส่งวันนี้ทำให้อำเภอบางสะพานเป็นต้นทางครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในการเริ่มต้นการขนส่งสินค้าเหล็กทางราง ซึ่งจะช่วยให้บริษัทและ รฟท. ได้ร่วมกันพัฒนาให้การขนส่งทางราง เป็นต้นแบบสำหรับสินค้าอื่นๆ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ"

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ร.ฟ.ท. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบรางมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับนานาชาติ ทั้งด้านโดยสารและการขนส่ง โดยเฉพาะการเพิ่มทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร การขนส่งสินค้าภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางรางถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน และมีความคุ้มค่ามากที่สุด โดยสามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว

ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้สนับสนุนกลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า ทดลองเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าทางรถไฟ ไปยังศูนย์กระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟในหลายเส้นทาง ซึ่งถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ระบบราง

โดยมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบรางให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อขนส่งสินค้าในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ให้สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

“การทดลองขนส่งในพื้นที่นาผักขวงนี้ ถือเป็นมิติหมายที่ดีต่อคนในชุมชน เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถช่วยเปิดโอกาสทางการค้าให้กับชาวบ้านในชุมชนให้สามารถนำสินค้าไปขายไม่เพียงแค่ในประเทศ แต่ยังรวมถึงการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศด้วยเช่นกัน” 

ทั้งนี้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การประมง และแหล่งท่องเที่ยวชุมชนสำคัญมากมายขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ คือกลุ่มบริษัทสหวิริยา อีกทั้งยังมีท่าเรือน้ำลึกผู้ให้บริการท่าเรือพาณิชย์เอกชน และรองรับการขนถ่ายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์เหล็กได้ในปริมาณมาก

สำหรับอุตสาหกรรมการขนส่งสินค้าทางระบบราง นับเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่มีความปลอดภัยสูง ต้นทุนน้อย และช่วยลดปัญหาการจราจรทางถนนได้ อีกทั้งในอนาคต หากมีการเชื่อมต่อระบบรางถึงท่าเรือประจวบ จะเป็นการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถ ราง และเรือ ได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์