‘สภาพัฒน์’ ห่วงการเมืองหลังเลือกตั้ง วอนรักษาบรรยากาศหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว
สศช.รับห่วงการเมืองหลังเลือกตั้ง วอนรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ หวังพรรคการเมืองจับตั้งรัฐบาลแบบราบรื่น หนุนเศรษฐกิจ-การลงทุนฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง
วันนี้ (14 พ.ค.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวระหว่างแถลงข่าวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส1/2566 ว่าภายหลังการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นสิ่งสำคัญคือ การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศให้สามารถเดินหน้าไปได้ ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ เพื่อเอื้อให้เกิดบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ดีที่มีผลดีเอื้อต่อการลงทุน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนการจับขั้วทางการเมืองนั้นนายดนุชาให้ความเห็นว่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคการเมืองต้องไปจับมือกันเอง ส่วนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนั้นก็ขอให้ราบรื่นมากที่สุด ไม่เป็นปัญหาเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อได้จากในจุดปัจจุบันที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ชัดเจน
“ต้องให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปในลักษณะที่สมูทและราบรื่น เพราะในหลายๆเรื่องนั้นรอความชัดเจน เช่น การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจำนวนมากที่รอความชัดเจน
ถ้ามีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเท่าไหร่ ก็สามารถที่จะพูดคุยและนำเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักที่เราต้องการเพื่อปรับโครงสร้างให้เราเป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมของภูมิภาคไม่ว่าจะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมชิพต้นน้ำ และอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่ออนาคต ซึ่งจะช่วยให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเราทำได้เร็วขึ้น”นายดนุชา กล่าว
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งขณะนี้ได้หารือกับสำนักงบประมาณแล้วว่าการจัดทำงบประมาณในปี 2567 จะล่าช้าออกไปและต้องใช้งบประมาณแบบพรางไปก่อน โดยการล่าช้าที่สุดจะไม่เกินไตรมาสที่ 1 ปี 2567
ฉะนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้นอกจากจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังมีโครงการการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมในการเบิกจ่ายการลงทุนในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2567 อยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท หากสามารถที่จะเร่งรัดการเบิกจ่ายในส่วนนี้ได้ก็จะทำให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจซึ่งจะต้องเร่งรัดการลงทุนในส่วนนี้มากขึ้นด้วย
โดยในขั้นตอนการอนุมัติโครงการการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค.และเมื่อเสนอโครงการอนุมัติการลงทุนและเข้าสู่การอนุมัติ จาก ครม.ชุดใหม่ได้หน่วยงานที่มีความพร้อม และได้ทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างแล้วก็จะอนุมัติเงินลงทุนได้ทันที