‘ครม.’ เคาะเพิ่ม ‘มาตรการ EV’ ดึงค่ายยุโรปปักฐานผลิตไทย

‘ครม.’ เคาะเพิ่ม ‘มาตรการ EV’ ดึงค่ายยุโรปปักฐานผลิตไทย

ครม.รับทราบมาตรการ EV3.5 ในส่วนมาตรการที่ไม่ต้องใช้เงินสนับสนุน ปรับมาตรการให้ความยืดหยุ่นให้ค่ายรถยนต์ยุโรปนำเข้ารถEV มาขายในไทย สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตในภายหลังเป็นรถรุ่นอื่นๆหรือซีรี่ย์อื่นๆ รวมทั้งผลิตรถกระบะไฟฟ้าทดแทนได้ผลักดันสู่โปรดักส์แชมป์เปี้ยน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (16 พ.ค.) ว่าที่ประชุมฯครม.รับทราบมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ตามมติคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดEV) ในส่วนของ “มาตรการ EV3.5” โดยในส่วนของมาตรการที่ ครม.รับทราบในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ ส่วนมาตรการที่เหลือที่อยู่ในแพคเกจ EV3.5 จะต้องให้รัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อไป

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่ามาตรการสนับสนุน EV ที่ครม.รับทราบในครั้งนี้มี 2 มาตรการ โดยเป็นการปรับมาตรการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งได้เอามาตรการที่หน่วยงานของกระทรวงการคลังคือกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ได้ขอให้มีการปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตรถEV ที่อนุญาตให้มีการนำรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) จากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยได้โดยมีเงื่อนไขในการผลิตรถEV ในประเทศตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมาตรการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อเดือน ก.ย.2565 ที่ผ่านมา และต่อมาได้นำเอามารวมกับมาตรการEV3.5 เพื่อเสนอเข้า ครม.

แต่เนื่องจากมีการยุบสภาฯก่อนมาตรการที่ใช้เงินสนับสนุน เช่น มาตรการส่งเสริมการตั้งโรงงานแบตเตอรี่วงเงินประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทจึงไม่สามารถนำมาเสนอ ครม.อนุมัติได้จึงเสนอเฉพาะมาตรการที่ไม่ต้องใช้เงิน  

โดยมาตรการที่ ครม.รับทราบในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย 2 มาตรการ

1.กำหนดให้กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ต้องผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์กระบะ ประเภท BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชยการนำเข้า 

2.กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 kWh ขึ้นไป ซึ่งกำหนดให้ต้องผลิตชดเชยรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้า หากมีกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิได้นำเข้ารถยนต์รุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้นำเข้าและได้รับสิทธิ์ แม้จะมีเลขซีรีส์ที่ต่างกัน ถือเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ

แหล่งข่าวกล่าวว่าการปรับมาตรการในส่วนนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ 2 อย่าง อย่างแรกสำหรับค่ายรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนรุ่นและซีรีย์ในการผลิตรถอยู่เป็นระยะ เช่น กรณีของค่ายรถเบนซ์ หรือ BMW อาจนำเข้ารถEV ที่เป็นซีรีย์ปัจจุบันเข้ามาขาย แต่เมื่อจะผลิตชดเชยในประเทศจะต้องผลิตรถรุ่นใหม่กว่าเดิม หรือรถที่มีการเปลี่ยนซีรีย์แล้วซึ่งเงื่อนไขแบบนี้จะจูงใจให้ค่ายรถยนต์สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ในเงื่อนไขที่ระบุในการผลิตรถEV ทดแทนการนำเข้าได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขจากเดิมที่ต้องผลิตรถEV เหมือนกับที่นำเข้าให้เป็นการผลิตรถกระบะไฟฟ้าทดแทนได้เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการผลิตรถกระบะไฟฟ้าให้กลายเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนเหมือนที่สามารถผลิตรถกระบะจนส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลก

ที่ประชุม ครม.ยังรับทราบมาตรการที่บอร์ดEV ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า สามารถสรุปผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย 

1.ด้านอุปทาน (Supply) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เปิดให้การส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและการผลิตชิ้นส่วน 17 ชิ้น รวมทั้งการผลิตแพลตฟอร์มสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle : BEV) จำนวน 15 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 2.77 หมื่นล้านบาท ผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 77 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 1.84 หมื่นล้านบาท และผู้ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 4 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 2,174 ล้านบาท ครอบคลุมหัวชาร์จปกติ (Normal Charge) จำนวน 5.076 จุด และหัวชาร์จเร็ว (Quick Charge) จำนวน 3,960 จุด 

 

2.ด้านอุปสงค์ (Demand) กรมสรรพสามิตได้กำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (EV3) โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 12 ราย ประกอบด้วย ผู้ผลิตรถยนต์และรถกระบะ จำนวน 9 ราย (GWM, TOYOTA, SAIC- MOTOR, MG, BYD, BENZ, NETA, MINE และ GREEN FILTER) และผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ราย (HONDA, DECO และ HSEM) นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้าง และการเช่ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ามาใช้ในภารกิจแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุการใช้งาน หรือที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นใหม่ เพื่อรองรับภารกิจใหม่หรือผู้ดำรงตำแหน่งใหม่ รวมทั้งเพิ่มเติมรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนกลาง 

3.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้กำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง รวม 123 มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ได้คุณภาพ และมีความปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล รวมทั้ง เปิดให้บริการทดสอบยานยนต์ ยางล้อ และแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรฐาน UN R100 และ UN R136 ณ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center : ATTRIC) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดฉะเชิงเทรา