'เอกชน' ชี้ 'โครงสร้างค่าไฟฟ้า' งานใหญ่รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไข

'เอกชน' ชี้ 'โครงสร้างค่าไฟฟ้า' งานใหญ่รัฐบาลใหม่เร่งแก้ไข

“เอกชน” แนะรัฐบาลใหม่รื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า ชี้เป็นตัวแปรสำคัญขีดแข่งขันประเทศแจง เปิด 5 ข้อเสนอเร่งแก้ปัญหารักษาผลประโยชน์ชาติ

พลังงานไฟฟ้า นับเป็นต้นทุน และต้นทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมขณะเดียวกันก็เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาต้นทุนและกลไกสำคัญนี้มีราคาแพงมาก

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ให้รื้อโครงสร้างค่าไฟฟ้า เพราะหากยังคงใช้โครงสร้างในปัจจุบันประชาชนและภาคธุรกิจจะไม่ยอมปล่อยไว้แน่นอน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ซึ่งรอบเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ภาคประชาชนจ่ายค่าไฟเฉลี่ยหน่วยละ 4.72 บาท ส่วนภาคเอกชนจ่ายค่าไฟเฉลี่ยที่หน่วยละ 5.33 บาท ได้ส่งผลกระทบวงกว้างทั้งในเรื่องของความจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า และกระทบต่อเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น เป็นต้น

“การขึ้นค่าไฟกระทบผู้ประกอบการมาก ซึ่งภาคธุรกิจถูกปรับค่าไฟ 2 งวดติดต่อกัน สูงขึ้นถึง 30% โดยเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 สูงขึ้น 17% เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 สูงขึ้น 13% เป็น 5.33 บาทต่อหน่วย ดังนั้น การขึ้นค่าไฟรุนแรงถือเป็นต้นทุนหนักจึงต้องปรับราคาสินค้า โดยไตรมาส 1 ปี 2566 ปรับขึ้น 5-12% แล้วแต่ประเภทของสินค้า ทั้งนี้ แม้ว่าค่าไฟฟ้างวดที่ 2 เดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 สำนักงานกกพ. ได้ปรับลดลงเท่ากันทุกภาคส่วนที่หน่วยละ 4.70 บาท แล้วก็ตาม ถือเป็นวิธียืดหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือว่าแก้ปัญหาปลายเหตุ”

ชำแหละงานด่วนรัฐบาลใหม่

นายอิศเรศ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าระยะสั้น ตามมาตรการ 100 วันนั้น สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญ คือ 1. ไฟฟ้าสำรองเกิน จะแก้ปัญหาอย่างไร อาทิ การเจรจากับคู่สัญญาเดิมเพื่อลดมาร์จิ้นต่อหน่วยลงแล้วแลกกับระยะสัญญาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี เพื่อลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) ลง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเร่งทำสัญญาใหม่เข้ามาในระบบ

2. การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะการนำก๊าซธรรามชาติมาผลิตไฟฟ้ากับการนำไปเพิ่มมูลค่าด้านปิโตรเคมีที่ยังมีราคาถูก พร้อมกับเร่งเพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณภายใต้เงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) กลับสู่สัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระดับ 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

3. ปลดล็อกมาตรการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป หรือ Net Metering กับระบบ Net billing เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับมูลค่าไฟฟ้าที่ไหลเข้าสู่ระบบโครงข่ายให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในอนาคต เพราะการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ต้นทุนไม่เท่ากัน อาจกระทบต่อประชาชนที่ไม่ได้ติดตั้งโซลาร์จะต้องรับภาระค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

4. การแก้หนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยมาตรการทางการเงิน เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) อาทิ การออกพันธบัตร โดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน เพื่อนำเงินมาช่วยเสริมสภาพคล่องสถานะทางการเงินให้กับกฟผ.

5. เร่งตั้ง กรอ. พลังงาน เพื่อร่วมหามาตรการระยะกลางและระยะยาวร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการประกาศจัดตั้งคณะทำงาน กรอ. พลังงาน มาแล้ว แต่เมื่อมีการเดินหน้าเลือกตั้ง การหารือก็ไม่ได้เกิดขึ้น ดังนั้น ทั้ง 5 ข้อ ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นข้อเสนอที่ยึดประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง โดยดำเนินการด้วยความโปร่งใสและรอบคอบ

เปิดปัจจัยทำค่าไฟฟ้าแพง

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การที่ค่าไฟแพง เกิดจากปัจจัยหลัก คือ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ PDP ที่ผิดพลาด มีการคำนวณว่าการใช้ไฟฟ้าจะโต จนต้องเพิ่มซัพพลายที่เร็วและง่ายเกินไป 2.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG)ต้นทุนสูงและก๊าซในอ่าวไทยหายไป 3.ค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment: AP) ซึ่งเป็นกำลังสำรองเพิ่มขึ้นและแม้ไม่ผลิตไฟส่งเข้าระบบ แต่ผู้ใช้ไฟต้องรับภาระจ่ายค่าลงทุนให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) แต่มีผลกระทบน้อยกว่าค่าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น จึงควรทบทวนสัญญาโรงไฟฟ้า 4. การบริหารก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การที่ซัพพลายสูงกว่าดีมานด์คือตัวเลขในสัญญาที่เกินกว่า 50% แต่ตัวเลขสำรองมีแค่ระดับ 30% ส่งผลให้เป็นภาระต้นทุนของประเทศไทยในระยะยาวเกิดต้นทุนค่าความพร้อมจ่าย ทั้งนี้ โครงสร้างราคาไฟฟ้าที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากแก๊สธรรมชาติและถ่านหินในการผลิต ทำให้ราคาค่าไฟมีความผันแปรตามราคาต้นทุน ซึ่งในระยะยาวมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น แตกต่างจากการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนคงที่ เป็นต้น