ราคาทองฟิวเจอร์ทรุดหนักเกือบ30 ดอลล์ นลท.จับตาเจรจาเพิ่มเพดานหนี้สหรัฐ
ราคาทองฟิวเจอร์ ปิดวันอังคาร(16พ.ค.)ปรับตัวลงอย่างหนัก 29 ดอลลาร์ ผลกระทบจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งกล่าวสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ และนักลงทุนในตลาดจับตาผลการเจรจาเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ
สัญญาทองคำตลาดโคเม็กซ์ ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลบ 29.70 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,993.00 ดอลลาร์/ออนซ์
นอกจากนี้ ราคาทองถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟด สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า เขาคาดว่าเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะปรับตัวอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
"นโยบายที่เหมาะสมคือการเฝ้ารอเพื่อดูว่าเศรษฐกิจได้ชะลอตัวมากน้อยเพียงใดจากการดำเนินนโยบายของเรา" นายบอสติกกล่าว
นายบอสติกกล่าวว่า การชะลอตัวของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาถือว่าน่าพึงพอใจ แต่เขายังคงสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป มากกว่าที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟด สาขานิวยอร์ก กล่าวว่า เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อไม่ได้ปรับตัวลง
"เราไม่เคยบอกว่าได้เสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยเราจะต้องแน่ใจว่าเราได้บรรลุเป้าหมายแล้ว ซึ่งเราจะทำการประเมินสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ และทำการตัดสินใจโดยขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ" นายวิลเลียมส์กล่าว
นายวิลเลียมส์ระบุว่า เขายังมองไม่เห็นเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ อย่างไรก็ดี เขาจะนำวิกฤตในภาคธนาคาร และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการขยายตัว การจ้างงานและเงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาแนวโน้มนโยบายอัตราดอกเบี้ย
นักลงทุนจับตาเพดานหนี้สหรัฐ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จะหารือเป็นครั้งที่ 2 กับนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ในวันนี้ หลังการเจรจาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
หากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 1 มิ.ย. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์