‘ก้าวไกล’ หวั่นตั้งรัฐบาลช้าเสียโอกาสลงทุน

‘ก้าวไกล’ หวั่นตั้งรัฐบาลช้าเสียโอกาสลงทุน

 ปัจจุบันยังมีความเป็นไปได้หลายทางสำหรับ “หน้าตาของรัฐบาล” ชุดใหม่ ว่าจะเกิดมาจากพรรคการเมืองใดบ้าง ซึ่งปัญหาที่ตามมาจากความไม่แน่นอนข้างต้น คือเมื่อรัฐบาลชุดใหม่จัดตั้งได้ช้า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ก็จะเข้าสภาล่าช้า

 ปัจจุบันยังมีความเป็นไปได้หลายทางสำหรับ “หน้าตาของรัฐบาล” ชุดใหม่ ว่าจะเกิดมาจากพรรคการเมืองใดบ้าง ซึ่งปัญหาที่ตามมาจากความไม่แน่นอนข้างต้น คือเมื่อรัฐบาลชุดใหม่จัดตั้งได้ช้า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ก็จะเข้าสภาล่าช้าจนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ชะลอลงไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวม ทั้งการลงทุนจริงๆ ในประเทศ และความเป็นไปของตลาดทุน

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจในประเด็นดังกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2567 ต้องเข้าสภาในเร็วๆ นี้แต่ยังไม่สามารถทำได้เพราะยังอยู่ในกระบวนการรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล 

นั้นหมายความว่าตอนนี้รัฐบาลรักษาการต้องชะลอรายจ่ายเพื่อการลงทุนไปก่อน และใช้ได้เพียงงบประมาณประจำที่คงไว้เพื่อการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เงินเดือนบุคลากร โครงการอบรมสัมมนา ต่างๆ ที่จะใช้เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินต่อไปได้

“หากพิจารณากรอบเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลและผ่านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว พรรคก้าวไกลจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ในเดือน ส.ค. จากนั้นอาจมีการรื้องบประมาณเล็กน้อย และเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งรัฐธรรมนูญให้กรอบเวลาไว้ทั้งหมด 105 วัน แต่พรรคก้าวไกลอาจขอให้รัฐสภากระชับเวลาลงมาเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจทั้งประเทศ จากนั้นจึงผ่านวาระ 1-2 ภายในต้น ม.ค. ปี 2567 แล้วให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พิจารณาอีก 1-2 อาทิตย์ ทั้งหมดก็จะล่าช้าไป 1 ไตรมาสพอดี”

จากความล่าช้าทั้งหมด นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า รัฐบาลจะเสียโอกาสในการใช้งบประมาณด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อครุภัณฑ์ การก่อสร้างของภาครัฐ หรือโครงการอื่น ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 อย่างแน่นอน

ดังนั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จึงประกาศขอความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสามารถเบิกจ่ายงบประมาณด้านการลงทุนได้ก่อน เริ่มลงทุนไปก่อน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ยังอยู่ท่ามกลางการพิจารณา 

เมื่อถามถึงผลกระทบต่อตลาดทุน นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า ความล่าช้าของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ เป็นสิ่งที่ตลาดทุนและนักลงทุนสามารถคาดการณ์ได้อยู่แล้ว และราคาสินทรัพย์เสี่ยงจำนวนมากก็ได้นำความเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้นไว้ในราคา (Price In) เรียบร้อยแล้ว


“หากย้อนกลับไปช่วงปี 62 ก็เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน เดียวกัน รัฐบาลใหม่ ตอนนั้นดีเลย์การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 63 ออกไปประมาณ 3-4 เดือน รวมกับเรื่องเสียบบัตรแทนอีก ทำให้สุดท้ายดีเลย์ไปมากกว่าคาดการณ์ ไปประกาศใช้จริงๆ เดือน ก.พ. ดังนั้นเรายืนยันว่า ปีนี้ไม่มีทางแย่ไปกว่าช่วงปี 2562 แน่นอน”

นอกจากนี้ แม้ว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่แข็งแกร่งทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทว่า หากร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ก็อาจทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างประเทศลดต่ำลง ดังนั้น นางสาวศิริกัญญา จึงระบุว่า หลังจากตั้งรัฐบาลเรียบร้อยจะเพิ่มแรงกระเพื่อมสำหรับ FDI จาก “เทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย” มากขึ้น มากกว่าการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เท่านั้น

“อาจมีการเจรจาสิทธิประโยชน์ด้านอื่น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่อเนื่อง และสร้างความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ อันนี้จำเป็นต้องทำอย่างประณีตเป็นรายอุตสาหกรรม ให้เราได้เข้าไปเป็นจุดยืนในห่วงโซ่อุปทานโลก ไม่ใช่เปิดอุตสาหกรรมกว้าง ๆให้ใครเข้ามาก็ได้เหมือนเดิม โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย พลังงานทดแทน เซมิคอนดักเตอร์ และ อีวีบัส ”