ประกันรายได้ 4 ปี ดันราคาสินค้าเกษตรพุ่ง
กรมการค้าภายใน เผย ประกันรายได้ 4 ปี ดันราคาสินค้าเกษตรพุ่ง ขณะที่ประกันรายได้ ปี 4 ใช้งบน้อยกว่าเป้า กว่า 2.5 หมื่นล้าน มัน ปาล์ม ข้าวโพดมาดี ข้าวก็พุ่ง แต่ลุ้นยางพารา
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมา สามารถช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น โดยเฉพาะปีที่ 4 ประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะสินค้าราคาดี และรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยรายได้น้อยที่สุด โดยมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน รัฐไม่ต้องชดเชยแม้แต่บาทเดียว ขณะที่ข้าว ตอนนี้จ่ายประกันแล้ว 32 งวด จากทั้งหมด 33 งวด คาดจะใช้เงิน 7,800 ล้านบาท น้อยกว่างบที่ตั้งไว้ 18,000 ล้านบาท ส่วนประกันรายได้ยางพารา คาดจะใช้เงินชดเชยตามกรอบที่ 7,600 ล้านบาท
“ราคาพืชผลส่วนใหญ่ปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้รัฐไม่ต้องชดเชย เช่น ปาล์มน้ำมัน ล่าสุดอยู่ที่ กก. 5.30-5.80 บาท สูงกว่าราคาประกันที่ 4 บาท ขณะที่ราคามันสำปะหลัง เชื้อแป้ง 25% เฉลี่ย กก.3.35-3.90 บาท สูงกว่าราคาประกันที่ 2.50 บาท และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย กก. 11-12 บาท สูงกว่าราคาประกันรายได้ที่ 8.50 บาท”
ขณะที่ราคาข้าว ส่วนใหญ่ใกล้เคียง หรือสูงกว่าราคาประกันรายได้ ข้าวเปลือกเจ้า ราคาตลาดตัน 9,800-10,300 บาท สูงกว่าราคาประกัน 10,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียว 12,500-13,400 บาท สูงกว่าราคาประกัน 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ 14,400-14,800 บาท ใกล้ราคาประกัน 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 13,500-14,000 บาท สูงกว่าราคาประกัน 14,000 บาท ข้าวหอมปทุมธานี 11,000-11,500 บาท สูงกว่าราคาประกัน 11,000 บาท
นายอุดม กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ เนื่องจากมีความต้องการจากตลาดโลกในปริมาณสูง ส่งผลให้ยอดส่งออกสูงขึ้น อีกทั้งราคาตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรในประเทศปรับขึ้นตาม และคาดว่าหลังจากนี้ราคายังน่าจะทรงตัวระดับสูงต่อไปอีกตามราคาตลาดโลก
สำหรับมาตรการดูแลราคาสินค้าเกษตร กรมฯ ได้เตรียมรองรับไว้แล้ว โดยโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ปีที่ 4 ที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาจาก ครม. ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบ เพราะส่วนใหญ่สินค้ามัน และปาล์มยังอยู่ในราคาดี สูงกว่าประกันรายได้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น เกษตรกรไม่น่ามีปัญหาอะไรในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
ทั้งนี้หากรัฐบาลไม่มีการโครงการประกันรายได้ในอนาคต กระทรวงพาณิชย์ก็มีมาตรการมาช่วยพยุงราคา เช่น ช่วยเหลือให้เกษตรกร และกลุ่มเกษตรกร เก็บผลผลิตในสต็อก และชะลอการออกมาขายในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก รวมถึงโครงการผลักดันการส่งออกในช่วงที่ราคาตลาดโลกปรับเพิ่ม ตลอดจนมาตรการดูแลราคาอื่นๆ เช่น การสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าไปซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลดำเนินงานโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ปี 4 ในสินค้าเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ล่าสุดถึงกลางเดือนพ.ค.66 ที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณ 8,149 ล้านบาท น้อยกว่างบที่ประมาณการณ์ไว้ 33,357 ล้านบาท ถึง 25,200 ล้านบาท
โดยจำแนก ได้เป็น ข้าว ใช้งบไป 7,866 ล้านบาท ต่ำกว่างบที่ตั้งไว้ 18,700 ล้านบาท ขณะที่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์ม ไม่ได้ใช้งบสักบาท จากที่ตั้งไว้ 3,164 ล้านบาท 716 ล้านบาท และ 3,133 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากราคาตลาดสูงเกินราคาประกัน ส่วนยางพารา ตั้งงบไป 7,643 ล้านบาท แต่เพิ่งใช้ไป 282 ล้านบาท แต่โครงการยังไม่สิ้นสุด