กนอ.เร่งสปีดมาบตาพุด ห่วงล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด
ท่าเรือมาบตาพุดฯ คาดก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการท่าเรือก๊าซ (ส่วนที่ 1) ภายในปี 2570 ขณะที่งานก่อสร้างช่วงที่ 2 เตรียมรับซองข้อเสนอเอกชน 6 มิ.ย.2566 คาดคัดเลือกเอกชนได้ภายในก.พ. 2567 และเริ่มงานก่อสร้างได้ปลายปี 2568
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อขยายขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขึ้นเป็น 19 ล้านตันต่อปี ใช้ในอีก 30 ปีข้างหน้า รักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ รวมทั้งรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
โครงการดังกล่าวจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งโครงการอยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านบาทแบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน 5.2 ล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ งานก่อสร้างจะเป็นงานถมทะเล ขนาดเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง สำหรับช่วงที่ 1 งานโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) พื้นที่ถมทะเล 550 ไร่ และพื้นที่กักเก็บตะกอนดิน 450 ไร่ โดยเอกชนที่ได้รับสัมปทานบริหารโครงการคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ที่เป็นบริษัท ร่วมทุนระหว่างกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และ พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันงานก่อสสร้างในช่วงที่ 1 เกิดการพัฒนาโครงการ ไปแล้วกว่า 48.65% ช้ากว่าแผนดำเนินโครงการเล็กน้อย สำหรับงานที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในปัจจุบัน ได้แก่ การก่อสร้างเขื่อนกันทราย การลงหินแกนแล้วเสร็จ 100% และอยู่ระหว่างปรับขนาดเสริมหินเกราะชั้นนอก ติดตั้งเขื่อนกันคลื่นทะเล (Breakwater) ถมทรายเพื่อก่อสร้างถนน สะพานเข้า-ออกโครงการ
รวมทั้งเตรียมงานอู่ลอยสำหรับหล่อเขื่อนกันคลื่นสำเร็จรูป (Caisson) ขณะเดียวกันในส่วนของงานขุดลอกและถมทะเล มีการติดตั้งม่านกันตะกอน และตรวจวัดปริมาณสารแขวนลอย (SS) โดยคาดว่าโครงการช่วงที่ 1 จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2570
“ทั้งนี้ งานก่อสร้างดำเนินไปด้วยดีและช้ากว่าแผนที่วางไว้เล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูมรสุมอาจทำให้ความก้าวหน้าชะงักไปบ้าง โดยภาพรวมหากไม่พบเหตุขัดข้องจะดำเนินการได้แล้วเสร็จตามกำหนด”
ส่วนงานขุดลอกและปรับพื้นที่ทางทะเล ได้ติดตั้งม่านกันตะกอนตามที่ระบุในรายงาน EHIA เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งโครงการได้สร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนต่อเนื่อง มีการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมในงานก่อสร้าง ที่ภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จำนวน 3 คณะและได้จัดประชุมร่วมกันไปแล้วกว่า 30 ครั้ง รวมถึงได้มีการมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 93.6 ล้านบาท จากกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
รวมทั้งมีการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ วัดคุณภาพอากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน วัดคุณภาพน้ำทะเล คุณภาพน้ำทิ้ง ซึ่งได้รายงานต่อกรมเจ้าท่า และสำนักงาน สผ. ทุก 6 เดือน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 3 ครั้ง
นอกจากนี้ กนอ.ได้กำหนดเงื่อนไขใน TOR การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าทั่วไป ให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องปรับปรุงท่าเรือสาธารณะให้เป็นกรีนพอร์ท ขณะเดียวกันท่าเทียบเรือที่ กนอ.เป็นผู้บริหารจัดการจะมีแนวทางการศึกษาและพัฒนาให้เป็นสมาร์ตพอร์ต
ส่วนโครงการช่วงที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างท่าเทียบเรือ (Superstructure) และการประกอบกิจการบนพื้นที่ถมทะเลช่วงที่ 1 ซึ่งเอกชนจะได้รับสิทธิพัฒนาพื้นที่แปลง A เนื้อที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 815 เมตร ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่ารองรับปริมาณสินค้า 4 ล้านตันต่อปี และแปลง C เนื้อที่ 150 ไร่ คลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ ระยะเวลาสัมปทาน 32 ปี
โดย กนอ.ขายเอกสารคัดเลือกเอกชน (RFP) ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.- 8 ธ.ค.2565 ซึ่งมีเอกชนสนใจเข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 5 ราย แบ่งเป็นแปลง A 4 ชุด และแปลง B 5 ชุด จากนั้น กนอ.จะเปิดรับซองข้อเสนอจากเอกชนในวันที่ 6 มิ.ย.2566 และคาดว่าจะประกาศผู้ได้รับคัดเลือกและลงนามสัญญาภายในเดือน ก.พ.2567 โดยผู้รับจ้างช่วงที่ 2 จะใช้เวลาจัดทำ EHIA งานก่อสร้างแปลง A และแปลง C ราว 1.5-2 ปี จึงคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงปลายปี 2568 ถึงต้นปี 2569
“ทั้งนี้ การเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดช่วงที่ 2 ถือว่ามีความล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมราวครึ่งปี เนื่องจากการคัดเลือกเอกชนในครั้งแรกปลายปีที่แล้วไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอจึงต้องมีการคัดเลือกใหม่ในปีนี้ แต่คาดว่าภาพรวมโครงการระยะที่ 3 ทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2570”