พาณิชย์แนะใช้ FTA สร้าง ‘แต้มต่อ’ ส่งออกทุเรียน

พาณิชย์แนะใช้ FTA สร้าง ‘แต้มต่อ’ ส่งออกทุเรียน

กรมการค้าต่างประเทศลงพื้นที่สวนทุเรียน หารือผู้ประกอบการ หนุนใช้สิทธิ์ FTA ลดต้นทุนส่งออกสร้างแต้มต่อทางการค้า พร้อมเร่งเดินหน้าแก้ปัญหาการสวมสิทธิส่งออกทุเรียนไทย ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2566 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีน 7 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 224%

ทุเรียนผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวจีนและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปีนี้จะส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีนได้ ปริมาณไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัน สร้างรายได้กว่า 1 แสนล้านบาท

ปัจจุบันทุเรียนไทยได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน โดยปี 2565 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนเป็นปริมาณ 7.9 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ และในไตรมาสแรกของปี 66 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนได้ 7 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 224 % คิดเป็นมูลค่า 346 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าทั้งปี 2566 ไทยจะมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดในปริมาณ 7.8 แสนตัน ซึ่งคาดว่าจะส่งออกได้ 7 แสนตัน คิดเป็น 91% 

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ระบุ กรมฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ทางการค้า การส่งออกสินค้าทุเรียนไปประเทศจีนให้แก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการสวนทุเรียนจังหวัดระยอง รวมถึงชี้แจงแนวทางการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบความตกลงทางการค้าเสรี หรือ FTA เพื่อลดต้นทุนและสร้างแต้มต่อทางการค้า ซึ่งการส่งออกทุเรียนสดไปจีนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้า 0% ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน – จีน และกรอบความตกลง RCEP

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้สิทธิ FTA ส่งออกทุเรียนไปจีนจะต้องขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ากับกรมการค้าต่างประเทศ นอกจากนี้ ผู้ส่งออกจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานศุลกากรจีน ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนต้องมีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับด้วยทุกครั้ง โดยต้องเป็นผลไม้มาจากแปลงปลูกที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุ หรือ ล้ง ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GMP 

 

คุมเข้มสกัดสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยส่งออก

ที่ผ่านมา กรมฯ พบปัญหาสินค้าทุเรียนมีการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งออกไปจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ปลอม เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร จึงได้กำหนดมาตรการ และแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองโดยกำหนดให้ทุเรียนสด และทุเรียนแช่แข็งอยู่ในบัญชีสินค้าเฝ้าระวัง รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวด และรัดกุมในการยื่นขอ Form E โดยผู้ส่งออกต้องระบุ แหล่งที่มาของสินค้า วันที่ส่งออก ด่านที่ส่งออกของไทย ประเภทยานพาหนะ และชื่อยานพาหนะ พร้อมหนังสือรับรองว่าเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทย และผลิตถูกต้องตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของประเทศผู้ให้สิทธิ และหลักฐานที่แสดงการได้มาซึ่งสินค้าที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้

นอกจากนี้ ได้พัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ช่วยให้การปลอมแปลงหนังสือรับรองฯ ทำได้ยากขึ้น และยังได้เร่งแก้ปัญหาโดยการประสานงานกับศุลกากรปลายทางอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกับศุลกากรจีนที่พบปัญหาการปลอมแปลงเอกสารหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทุเรียน เพื่อระงับหนังสือรับรองฯ ปลอม และมีแผนร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบการออกหนังสือรับรองฯ ระหว่างกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย

ทีมข่าวเนชั่นทีวี รายงาน