การทางพิเศษฯ ลุยด่วนชั้น 2 จ่อเจรจาขยายสัมปทาน BEM
การทางพิเศษฯ เคาะแนวเส้นทางพัฒนาทางด่วนชั้นที่ 2 ซ้อนทับทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 คาดใช้วงเงินลงทุนมากกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท เล็งเสนอ ครม.ใหม่ภายในปีนี้ ก่อนเดินหน้าเจรจา BEM ลงทุนแลกขยายสัมปทานทางด่วน คาดเปิดบริการในปี 2573
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทพ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของโครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2563 ที่มอบหมายให้ กทพ.ศึกษาโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางพิเศษศรีรัช โดยทางด่วนสายนี้จะเป็นทางด่วนทับซ้อนแนวเส้นทางเดิม และไม่ต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี กทพ.ประเมินว่าจะต้องจัดใช้งบประมาณดำเนินโครงการมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากผลการศึกษาเดิมเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างที่ปรับเปลี่ยนไป แต่จากผลการศึกษาความเหมาะสมของการพัฒนาโครงการพบว่ายังมีความจำเป็นในการพัฒนาโครงการนี้ เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤตทั้งในและนอกช่วงเวลาเร่งด่วน
“ทางด่วนชั้นที่ 2 เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ ครม.มอบหมายให้ศึกษา เชื่อมต่อมาจากการเจรจาสัญญาสัมปทานทางด่วนเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างการทางฯ กับ BEM ในช่วงปี 2563 ซึ่งในขณะนั้น ทาง BEM เสนอที่จะทำโครงการนี้ให้ฟรี แลกหนี้กับขยายสัมปทาน 30 ปี แต่ข้อเสนอมากระชั้นชิด ครม.จึงมอบหมายให้ กทพ.มาศึกษาภายใน 2 ปี และลดสัมปทานไว้ที่ 15 ปี ให้กลับมาศึกษาโครงการนี้ก่อน ว่าควรจะดำเนินการหรือไม่”
โดยก่อนหน้านี้ กทพ.ได้ศึกษาความจำเป็นของการพัฒนาโครงการนี้แล้วเสร็จ พร้อมเสนอผ่านไปยังที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เรียบร้อยเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2565 และได้มีการรายงานผ่านที่ประชุม ครม.แล้ว ขณะนี้ถือเป็นการเริ่มต้นศึกษารายละเอียดโครงการ แนวเส้นทาง และรูปแบบการลงทุน ซึ่งมติ ครม.ในปี 2563 ไม่ได้กำหนดให้เจรจาตรงกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ดังนั้นรูปแบบการลงทุนขณะนี้ กทพ.ขอใช้เวลาในการศึกษาอย่างรอบคอบก่อน
ทั้งนี้ กทพ.คาดการณ์ว่าจะศึกษารายละเอียดโครงการแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2566 คาดว่าจะเสนอไปยัง ครม.ชุดใหม่พิจารณาอนุมัติภายในปีนี้ โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับขั้นตอนเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2567 โดยหลังได้รับ EIA จึงจะเริ่มขั้นตอนงานก่อสร้างราวปี 2568 แล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2573
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า การลงทุนโครงการทางด่วนสายนี้ กทพ.ยอมรับว่าไม่คุ้มค่า เพราะการลงทุนสูง และไม่เชื่อว่าประชาชนจะย้ายบ้านมาอยู่ในแนวเส้นทางนี้เพิ่มขึ้นจากปัจจัยของการขยายทางด่วนเพิ่มเป็นชั้นที่ 2 แต่ กทพ.มีความจำเป็นต้องลงทุนโครงการนี้ เพราะไม่ได้มุ่งหวังเพียงรายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และเพื่อทำให้การให้บริการแก่ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวกสบายสูงสุด
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 หรือ Double Deck เป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่เคยทำมาเจรจาแลกกับยุติข้อพิพาทรวม 17 คดี มูลค่าข้อพิพาท 58,873 ล้านบาท ระหว่าง กทพ.กับ BEM แต่ในการเจรจาขณะนั้นข้อเสนอมอบหมายให้ BEM ก่อสร้าง Double Deck ถูกตัดออกไปก่อน เนื่องจากโครงการนี้ค่อนข้างมีรายละเอียดซับซ้อน จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบ ทำให้ ครม.มีมติให้ศึกษาความจำเป็นของการก่อสร้างโครงการนี้ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 เพื่อนำเสนอกลับไปพิจารณา
สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้น ปัจจุบันไม่ได้มีข้อผูกมัดที่จะต้องเจรจาร่วมลงทุนกับ BEM เท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าโครงการมีการลงทุนวงเงินสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท หาก กทพ.จะเป็นผู้ลงทุนเอง จำเป็นต้องหางบประมาณ และอาจไม่คุ้มค่า ขณะเดียวกันหากให้เอกชนมาร่วมลงทุน และจัดเก็บค่าผ่านทาง ต้องพิจารณาด้วยว่ากรณีมีเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะกระทบกับการบริการ และซับซ้อนกับสัญญาสัมปทานของทางด่วนเดิมหรือไม่
อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าแนวทางออกที่เหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด คือการเจรจาตรงกับ BEM ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานบริหารจัดการทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ในแนวเส้นทางที่ต้องถูกซ้อนทับอยู่แล้ว โดยหากเจรจาให้ BEM ก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 และเก็บค่าผ่านทาง ก็จะต้องมีการเจรจาขยายสัญญาสัมปทานเดิมให้เหมาะสม ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะดำเนินการหลังจากผลการศึกษาโครงการแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้เป็นต้นไป
สำหรับพื้นที่ศึกษาของโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตพญาไท เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วานไปสิ้นสุดโครงการบริเวณถนนพระราม 9 รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร ประมาณการณ์วงเงินค่าก่อสร้าง 34,028 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีด่านเก็บค่าผ่านทาง จำนวน 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณประชาชื่น และด่านเก็บค่าผ่านทางบริเวณมักกะสัน มีทางขึ้น-ลง จำนวน 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลงจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ทางขึ้น-ลงบริเวณย่านพหลโยธิน และทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9 และตำแหน่งที่มีเฉพาะทางลง จำนวน 1 ตำแหน่ง ได้แก่ ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน