‘หนี้ครัวเรือน’ ระเบิดเวลาลูกใหม่ ‘สภาพัฒน์’เตือน หลังหนี้ทะลุ 15 ล้านล้าน
สศช.ห่วงหนี้ครัวเรือนระเบิดเวลาเศรษฐกิจไทย หลังหนี้ครัวเรือนแตะ 15.09 ล้านล้าน เพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาสก่อน สัดส่วน 86.9% ต่อจีดีพี ชี้รัฐบาลใหม่ต้องขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง เดินหน้ามาตรการปรับโครงสร้างหนี้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส1/2566 ว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2565 มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5%จากไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงเหลือ 86.9% ตามการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามเมื่อดูจากระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นจากข้อมูลในไตรมาสก่อนที่มีระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.91 ล้านล้านบาท เพิ่มมาเป็น 15.09 ล้านล้านบาท ทำให้เห็นถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังไม่ได้ปรับตัวลดลง
โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีมูลค่าสูง และมีบัญชีหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาของหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาในการฉุดรั้งการใช้จ่ายของประชาชนและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ
“ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลและจะเป็นระเบิดเวลาที่เกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป และเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต่อไปต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวัง เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาต่อเนื่องแต่หนี้ครัวเรือนก็ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะนี้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ เศรษฐกิจยังเดินไปได้แบบนี้ การจ้างงานยังเดินไปแบบนี้ ระเบิดเวลาก็ยังไม่ระเบิด
แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัว เจอกับปัญหาให้หยุดชะงักก็มีความเสี่ยง ซึ่งในส่วนนี้ต้องดูทั้งเรื่องของมาตรการที่ต้องทำต่อเนื่อง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่ไปกับการดูแลการใช้จ่ายที่ประชาชนต้องมีวินัยการเงินของตัวเองไม่ให้ใช้จ่ายจนเกินตัว ต้องลดละเลิก ขณะที่ธนาคาร สถาบันการเงินก็ไม่ควรออกแคมเปญในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดจนมากเกินไปซึ่งมีส่วนทำให้คนเสียวินัยการเงิน” นายดนุชากล่าว