เลือกตั้ง 2566 พักหนี้ประชาชน...ทางออกประเทศไทย? | ชิดตะวัน ชนะกุล
การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยนำเสนอนโยบายพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การพักชำระหนี้เกษตรกร ไปจนถึงการพักชำระหนี้ในระบบทุกประเภทให้ประชาชนทุกคน
ก่อนเข้าสู่เนื้อหาผลกระทบของการพักชำระหนี้ ผู้เขียนขออธิบายความแตกต่างระหว่างคำว่า หนี้สาธารณะและ หนี้ครัวเรือนโดยย่อ ดังนี้
หนี้สาธารณะคือหนี้ที่รัฐบาลมีภาระผูกพันต้องชำระ ประกอบด้วยหนี้รัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจ หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจส่วนที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้หน่วยงานของรัฐ
หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่ประชาชนกู้ส่วนตัว ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้สาธารณะประมาณร้อยละ 61 ของ GDP สำหรับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 86
นโยบายพักชำระหนี้ที่พรรคการเมืองนำเสนอ มองผิวเผินอาจมีข้อดีในแง่บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้ประชาชน แต่ความจริงแล้วเป็นภาระหนักของคนทั้งประเทศ
ประการแรก นโยบายพักชำระหนี้แบบหว่านแห ย่อมนำมาซึ่งภาระทางการคลังระดับอุกฤษฏ์ ซึ่งประชาชนทุกคนทั้งที่เข้าร่วมโครงการและไม่ได้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ต้องร่วมกันรับผิดชอบผ่านการจ่ายภาษี
เพราะหากนโยบายเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการปฏิบัติ ย่อมหลีกไม่พ้นการดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน
พร้อมกันนี้การที่พรรคการเมืองระบุว่า จะออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเป็นแหล่งเงินในการใช้จ่ายของโครงการ นั่นคือการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ
ในอนาคตแทนที่รัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณไปใช้ในการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศ แต่กลับต้องถูกนำไปชดเชยการขาดทุน
จากการดำเนินตามนโยบายของรัฐในการพักชำระหนี้ประชาชนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงจ่ายดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล
ประการต่อมา เมื่อพิจารณาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยในปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า มูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้านบาท โดย 2 ใน 3 เป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ นับแต่อดีตที่เน้นไปในเรื่องการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งบางมาตรการทำให้คนเป็นหนี้ในขณะที่ยังไม่พร้อม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในโครงการรถยนต์คันแรกเมื่อปี พ.ศ.2555
นอกจากนี้ การที่สถาบันการเงินส่งเสริมให้ลูกค้าใช้ผลิตภัณฑ์ตนเอง ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย ทำให้คนไทยในปัจจุบันมีพฤติกรรมเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย
คนวัยเริ่มทำงานเกือบร้อยละ 60 มีหนี้ และมากกว่าร้อยละ 25 เป็นหนี้เสีย
จากบทสัมภาษณ์เผยแพร่โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ผู้ให้สัมภาษณ์บางส่วนกู้เงินในระบบและนอกระบบเพื่อนำไปเล่นการพนัน บางคนมีหนี้เสียจากการใช้จ่ายเกินตัวในเรื่องอุปกรณ์แต่งรถ การท่องเที่ยว ฯลฯ
สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยขาดวินัยทางการเงิน นโยบายของพรรคการเมืองในการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแบบ “ให้ทุกคน ให้ทุกประเภทหนี้” โดยไม่ระบุเพดาน หรือกำหนดไว้สูงมากที่ 1 ล้านบาทต่อคน เป็นระยะเวลานานถึง 3 ปี
นอกจากเป็นเพียงการผลักปัญหาการเงินของบุคคลไปยังอนาคตเพราะหนี้ยังคงเดิม อาจทำให้คนบางส่วนเกิดแรงจูงใจในการใช้จ่ายเกินตัวเพิ่มขึ้น
กล่าวคือ คนที่มิได้เป็นหนี้ หรือเป็นหนี้ในจำนวนที่ไม่มาก อาจหันมาก่อหนี้เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ความช่วยเหลือตามนโยบายของรัฐ อีกทั้งคาดหมายว่าพรรคการเมืองจะชูนโยบายพักชำระหนี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีก
ผู้นำพรรคการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศต้องตระหนักว่า การกู้เป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ให้สินเชื่อโดยหวังกำไรจากดอกเบี้ย
เจ้าหนี้จึงต้องพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หาใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้าโอบอุ้มด้วยการนำภาษีของคนทั้งประเทศไปจ่ายดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ในช่วงระยะเวลาการพักชำระหนี้
ดังนั้น เพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของประเทศมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงต้องใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในระยะสั้นควรจำกัดเฉพาะผู้มีรายได้น้อยโดยการให้องค์ความรู้และเครื่องมือเพื่อสร้างรายได้ สำหรับในระยะยาว รัฐมีหน้าที่จัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้ทรัพยากรมนุษย์มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เป็นคนดีมีความสามารถ ขยันอดออม มีวินัยทางการเงิน
ขณะเดียวกัน รัฐต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ขจัดระบบเส้นสาย เพื่อให้คนในประเทศมีกำลังใจที่จะพัฒนาศักยภาพ สร้างความเจริญให้ทั้งตนเองและประเทศชาติต่อไป...เมืองไทยต้องดีกว่านี้แน่!