‘นักวิชาการ’ ห่วงประชานิยมเพิ่มหนี้ประเทศ แนะการเมืองรอบคอบก่อนออกนโยบาย

‘นักวิชาการ’ ห่วงประชานิยมเพิ่มหนี้ประเทศ แนะการเมืองรอบคอบก่อนออกนโยบาย

นักวิชาการจาก สวค.ห่วงนโยบายประชานิยมเพิ่มหนี้ประเทศ หลังโควิดหนี้สาธราณะขยับขึ้นกว่า 20% และมีการตั้งขาดดุลฯเพิ่มจากเป็นกว่า 5 แสนล้านบาท ห่วงการกู้เงินเพิ่มเพื่อใช้บริหารเศรษฐกิจและบริหารประเทศสร้างการเสพติดการกู้เงิน ชี้ควรใช้งบประมาณไปเพิ่มผลิตภาพการผลิต

สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) กล่าวในหัวข้อ "หายนะทางการคลัง พรรคการเมืองทุ่มแจกเงิน ลดหนี้ แลกคะแนนเสียง" ในรายการ "Deep Talk กรุงเทพธุรกิจ" ที่เผยแพร่ทางยูทูปและเฟซบุ๊คของกรุงเทพธุรกิจ ว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจแบบหนุ่มสาวที่จะเติบโตรวดเร็ว หรือฟื้นตัวเร็วเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาทรุดตัวลง จะเห็นว่าจีดีพีขยายตัวได้ 2-3% และการทำให้จีดีพีขยายตัวได้ 4-5% ถือว่ายากมาก ไม่ว่าจะภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรมมีข้อจำกัดมากจึงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้

ทั้งนี้แม้ว่าหลายพรรคการเมืองจะเริ่มมีการหาเสียงโดยการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เช่น นโยบายระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค ซึ่งศึกษาแล้วว่าแต่ละพื้นที่ควรยกอะไรมาขับเคลื่อน ส่วนจังหวัดเล็กควรควบรวมและทำงานร่วมกับจังหวัดใหญ่ และพยายามใช้งบประมาณในการรีดประสิทธิภาพของภาครัฐเพิ่มผลิตภาพการผลิตเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวทั้งระบบ

หนี้สาธารณะไทยปรับขึ้น 20% หลังโควิด-19 

จากการติดตามนโยบายพรรคการเมืองสิ่งที่ต้องคำนึง คือ นโยบายที่กระทบสถานะการคลังประเทศ ปัจจุบันหนี้สาธารณะไทยมีสัดส่วน 61% ของจีดีพี ซึ่งบางคนบอกว่าไม่มากนักเมื่อเทียบประเทศอื่น แต่ที่น่ากังวล คือ การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปี โดยปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 42% ของจีดีพี แต่เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 หนี้สาธารณะขึ้นไปที่ 61% ต่อจีดีพี

ห่วงเสพติดการกู้เงินฯมาบริหารเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ การตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นมาก โดยเดิมตั้งงบประมาณขาดดุลปีละ 2-3 แสนล้าน แต่ปัจจุบันการขาดดุล 5 แสนล้านบาท เป็นเรื่องปกติ 

"สิ่งที่น่ากลัว คือ การเสพติดการกู้เงินของรัฐบาล ช่วงโควิดที่ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับ รวม 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งบางคนเห็นว่ากู้แล้วเศรษฐกิจไปได้ก็ไม่มีปัญหา แต่การก่อหนี้เกิดช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ต้องตั้งงบประมาณชดเชยรายจ่ายการคลังปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นต้นทุนที่กระทบการจัดสรรงบประมาณการลงทุน

ประชานิยมกระทบการคลังประเทศ 

ส่วนประเด็นนโยบายประชานิยมจะกระทบการคลังหรือไม่ พบว่า หลายนโยบายที่หาเสียงจะใช้เงินจำนวนมาก เช่น การเพิ่มเงินผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 3,000 บาท หรือปรับแบบขั้นบันไดจะใช้เงินถึง 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นภาระการคลังมาก พรรคการเมืองต้องสื่อสารให้ชัดเจนว่าจะใช้วิธีใดหาเงิน ยกตัวอย่างการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงิน 3.4 ล้านล้านบาท หากนำเงินส่วนนั้นมาใช้เพิ่มผลผลิตได้ 20% จะได้งบประมาณมาอีก 2 แสนล้านบาทที่เลี้ยงดูคนแก่ได้ทั้งประเทศ

สำหรับความเสี่ยงของประเทศที่ใช้เงินประชานิยมมาก แต่เศรษฐกิจเติบโตช้า โดยไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง และการทำสวัสดิการต่อเนื่องจนเป็นภาระผูกพัน มีสิ่งที่ควรสื่อสารสื่อสาร คือ การทำสวัสดิการไม่ใช่การทำนโยบายระยะยาว ต้องชี้แจงให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลดูแลได้ในบางเวลาเพราะมีข้อจำกัดทางการคลัง ไม่เช่นนั้นไทยจะซ้ำรอยศรีลังกา หรือฝรั่งเศสที่ประท้วงขยายเวลาเกษียณ

คนกู้ไม่ได้ใช้เงิน และคนใช้เงินไม่ได้กูั

“นโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงว่าจะใส่เงินลงมาให้สวัสดิการเท่านั้น ไม่มีเงินฟรีที่มาให้ประชาชน เงินส่วนหนึ่งที่ให้ไปก็ไปเก็บจากภาษีอีกส่วนหนึ่งดังนั้นต้องสร้าง Mindset ใหม่เพราะปัจจุบันนักการเมืองหากเข้ามาแล้วกู้เงินก็ไม่มี Mindset ที่จะใช้หนี้คืน ซึ่งทางรอดของไทยต้องสร้างประสิทธิภาพทางการคลัง ลดการขาดดุลงบประมาณ สร้างกลไกการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเทคออฟด้วย”

ห่วงระเบิดการคลังมาจากภาคท้องถิ่น

ทั้งนี้ความเสี่ยงระเบิดทางการคลังจะเกิดจากส่วนท้องถิ่นก่อน เพราะท้องถิ่นรายจ่ายโตขึ้น แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการลดการจัดเก็บรายได้ท้องถิ่นมาก ทำให้ท้องถิ่นต้องการเงินและขอสนับสนุนจากส่วนกลาง แต่ท้องถิ่นเราไม่เหมือนกับท้องถิ่นต่างประเทศที่ออกพันธบัตรและการกู้เงินได้ แต่ของไทยมีอำนาจอยู่ส่วนกลางอย่างเดียวที่เป็นผู้จัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นข้อจำกัดกับงบประมาณท้องถิ่น