ธปท. เดินหน้านโยบายการเงินผ่อนคลาย ลดดอกเบี้ยเหลือ 1.75% รับสงครามการค้า

ธปท. ระบุเดินหน้านโยบายการเงินผ่อนคลาย พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจและภาษีนโยบายการค้า ยันยังไม่ใช่วัฎจักรดอกเบี้ยขาลง วิเคราะห์ 2 ฉากทัศน์ คาดการณ์จีดีพีปี 68 โต 1.3-2.0% ส่วนปี 69 โต 1.0-1.8%
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน เปิดเผยภายหลังการประชุม กนง. ในวันที่ 30 เม.ย.2568 ว่า คณะกรรมการ กนง. มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เป็น 1.75% เนื่องจากสถานการณ์นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ในการดำเนินมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ประเทศต่างๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงการค้าโลก ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและมีความไม่แน่นอนสูง
โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว และผลกระทบจะยืดเยื้อ กระทบต่อโครงสร้างการผลิตและการค้าโลก รวมทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมของโลกลดลง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น แม้ว่ายังคาดการณ์ได้ยาก
ทั้งนี้ ธปท. พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสภาพของเศรษฐกิจ และผลกระทบจากสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยนโยบายการเงินขณะนี้มีทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ถึงขั้นการเป็นวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง
"ส่วนหลังจากนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลงอีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับภาษีที่ไทยจะถูกสหรัฐเรียกเก็บว่าอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ทั้งนี้ จากอดีตที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยลงไปต่ำสุดที่ 0.5% ในช่วงวิกฤต COVID-19 แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่เลวร้ายเท่ากับช่วงดังกล่าว"
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยภายใต้ 2 ฉากทัศน์ คือ
1.ฉากทัศน์ที่การเจรจาทางการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับอัตราปัจจุบัน (reference scenario) โดยทุกประเทศโดนเก็บภาษี Universal Tariff 10% และภาษีรายสินค้า 25%
2.ฉากทัศน์ที่สงครามการค้ารุนแรงมากและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อยู่ในอัตราที่สูง (alternative scenario) ทุกประเทศมีการเจรจาลดภาษีศุลกากรตอบโต้ที่สหรัฐประกาศลงได้ครึ่งหนึ่ง โดยเก็บภาษีไทยอยู่ที่ 18% ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ
โดยมองผลกระทบของสงครามการค้าจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 68 ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ขยายตัว ได้ 1.3-2 % ลดลงจากการประเมินครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% ขณะที่ในปี 69 คาดว่า GDP จะโตได้ที่ 1-1.8%
นอกจากนี้ กรณีที่บริษัทจัดอันดับเครดิต มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมอง Negative จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) นั้น มาจากมุมมองของเศรษฐกิจไทยที่อาจจะฟื้นตัวช้าในระยะข้างหน้าและภาระหนี้ของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น จากการเข้าไปดูแลเศรษฐกิจ และเตือนว่าการใช้พื้นที่ทางการคลัง ควรระมัดระวังมากขึ้น เพราะการขาดดุลการคลังของไทย ยังขาดดุลเพิ่มขึ้นได้อีกไม่มากนัก ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจควรจะเป็นมาตรการที่เจาะจงและเน้นในเรื่องการ